ที่มาของฮิจญ์เราะฮฺศักราช

ที่มาของฮิจญ์เราะฮฺศักราช
บรรจง บินกาซัน

วันนี้ 22 กันยายน พ.ศ.2560 ตรงกับวันที่ 1 เดือนมุฮัรฺร็อม ฮ.ศ.1439 วันปีใหม่ตามปฏิทินอิสลาม แต่มุสลิมทั่วโลกผ่านวันขึ้นปีใหม่ของตนไปโดยมิได้มีการจัดงานเคานต์ดาวหรือจุดพลุเฉลิมฉลองแต่ประการใด เพราะมุสลิมถือว่าวันที่ 1 ของทุกเดือนในรอบปีเป็นเพียงวันที่บอกว่าเวลาของเราได้หมดไปอีกหนึ่งเดือนแล้วเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมมีวันสำคัญที่จะเฉลิมฉลองกันในบางเดือนของทุกปี นั่นคือ วันอีดุลฟิฏร์ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน(เดือนที่ 9)และวันอีดุลอัฎฮาซึ่งเป็นวันแห่งการทำพิธีฮัจญ์ของมุสลิมทั่วโลกในเดือนซุลฮิจญะฮฺ เดือนสุดท้ายของปี
ในคัมภีร์กุรอาน 9: 36 ระบุว่า “จำนวนเดือนที่อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้นั้นมีสิบสองเดือนตั้งแต่เมื่อตอนที่พระองค์ได้ทรงสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน และในจำนวนนี้มีสี่เดือนต้องห้าม นี่คือหลักในการนับที่ถูกต้อง......”
ดังนั้น มนุษย์จึงแบ่งเวลาหนึ่งปีออกเป็นสิบสองเดือนมาตั้งแต่อดีตกาลแล้ว แต่การแบ่งเดือนในแต่ละปีมีวิธีต่างกัน ระบบสุริยคติใช้การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์เป็นเกณฑ์กำหนดหนึ่งปี ส่วนระบบจันทรคติใช้การโคจรของดวงจันทร์รอบโลกนับเป็นหนึ่งเดือนและนับไป 12 เดือนเป็นหนึ่งปี เดือนส่วนใหญ่ในปฏิทินจันทรคติจะมี 29 วัน ดังนั้น วันในปฏิทินจันทรคติจะมี 354 วันเศษๆซึ่งน้อยกว่าปฏิทินสุริยคติ 10 -11 วัน
ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างปฏิทินสุริยคติกับปฏิทินจันทรคติก็คือ ปฏิทินในระบบสุริยคติเริ่มต้นวันใหม่หลังเที่ยงคืน แต่ปฏิทินระบบจันทรคติของอิสลามเริ่มต้นวันใหม่เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
คัมภีร์กุรอานยังกล่าวอีกว่าในจำนวน 12 เดือนนี้มีเดือนต้องห้ามอยู่สี่เดือน นั่นคือเดือนที่ 1, 7, 11 และ 12 ในสังคมชาวอาหรับก่อนสมัยอิสลามได้กำหนดประเพณีไว้อย่างหนึ่งว่าในเดือนดังกล่าวห้ามทุกเผ่าทำสงคราม ทั้งนี้เพราะเดือนที่ 12 (เดือนซุลฮิจญะฮฺ) ของทุกปีเป็นเดือนแห่งการทำพิธีฮัจญ์ เดือนที่ 11 (เดือนซุลเกาะด๊ะฮฺ) เป็นเดือนแห่งการเดินทางมาและเดือนที่ 1 (เดือนมุฮัรฺร็อม)เป็นเดือนแห่งการเดินทางกลับ ดังนั้น ชาวอาหรับทุกคนต้องให้เกียรติแก่ผู้เดินทางมาทำพิธีฮัจญ์ และที่สำคัญก็คือความปลอดภัยในช่วงเดือนต้องห้ามจะทำให้ชาวอาหรับทุกเผ่าต่างได้รับผลประโยชน์จากการทำการค้า
แม้สังคมชาวอาหรับสมัยก่อนหน้าอิสลามมีการกำหนดวันและเดือนต่างๆแล้วก็ตาม แต่ชาวอาหรับก็ยังไม่มีปฏิทินที่บอกว่าเป็นศักราชที่เท่าใด การนับปีจะอ้างอิงเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น นบีมุฮัมมัดเกิดในวันจันทร์ เดือนเราะบีอุลเอาวัล ปีช้าง ทั้งนี้เนื่องจากในปีที่นบีมุฮัมมัดถือกำเนิดเป็นปีที่มีกองทัพช้างจากเยเมนได้บุกเข้ามายังมักก๊ะฮฺ ชาวอาหรับจึงถือว่าปีนั้นเป็นปีเกิดเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ในความทรงจำของพวกตน

เมื่อนบีมุฮัมมัดอพยพจากมักก๊ะฮฺไปที่มะดีนะฮฺใน ค.ศ.622 ท่านพบว่าชาวบนีอิสรออีลที่นั่นถือศีลอดในวันที่ 10 เดือนมุฮัรฺร็อม (วันอาชูรอ) ท่านจึงได้ถามคนกลุ่มนี้ถึงเหตุผลในการถือศีลอดในวันนั้น ชาวบนีอิสรออีลตอบท่านว่า “มันเป็นวันดีวันหนึ่ง” (วันที่โมเสสช่วยชาวยิวให้รอดพ้นจากฟาโรห์)นบีมุฮัมมัดจึงบอกชาวยิวว่า “เราใกล้ชิดโมเสสมากกว่าพวกท่านเสียอีก”
ในเวลานั้น คำบัญชาเรื่องการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนยังไม่ได้ถูกประทานมา นบีมุฮัมมัดได้ถือศีลอดในวันนั้นตามชาวบนีอิสรออีลและท่านได้สั่งมุสลิมในมะดีนะฮฺให้ถือศีลอดตามแบบชาวบนีอิสรออีล เพราะท่านถือว่าโมเสสเป็นนบีของพระเจ้า ท่านจึงปฏิบัติตาม
ในปีถัดมา นบีมุฮัมมัดได้รับคำบัญชาให้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน การถือศีลอดในวันที่ 10 เดือนมุฮัรฺร็อมจึงเป็นสิ่งที่มุสลิมสามารถเลือกปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ได้ตามความสมัครใจ ไม่ใช่ข้อบังคับเหมือนกับการถือศีลอดในเดือนเราะฎอน
ในสมัยของนบีมุฮัมมัด มุสลิมยังไม่มีศักราชของตนเอง หลังสมัยนบีมุฮัมมัด ใน ค.ศ.638 ซึ่งเป็นสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อาณาเขตของรัฐอิสลามขยายกว้างออกไป อบูมูซา อัชอะรีย์ เจ้าหน้าที่ปกครองของอุมัรฺในเมืองบัศเราะฮฺในประเทศอิรักได้ร้องเรียนว่าจดหมายที่เขาได้รับจากอุมัรฺไม่ได้ระบุปีไว้ ทำให้เขาไม่อาจจำได้ว่าจดหมายฉบับใดเป็นฉบับล่าสุด ดังนั้น เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่มุสลิมต้องมีการกำหนดศักราชของตนเอง
หลังจากปรึกษาหารือกับผู้อาวุโส อุมัรฺก็ตัดสินใจว่าศักราชของอิสลามควรเริ่มต้นตั้งแต่ปีที่นบีมุฮัมมัดอพยพมาถึงเมืองมะดีนะฮฺ อุษมาน บินอัฟฟาน สาวกผู้อาวุโสคนหนึ่งแนะนำว่าปฏิทินอิสลามควรเริ่มต้นด้วยเดือนมุฮัรฺร็อมตามประเพณีของชาวอาหรับแม้ในความเป็นจริงแล้ว นบีมุฮัมมัดอพยพมาถึงเมืองมะดีนะฮฺในเดือนถัดจากนั้นก็ตาม นับแต่นั้นมา ศักราชของอิสลามจึงเริ่มต้นและถูกเรียกว่า “ฮิจญ์เราะฮฺศักราช” เพราะฮิจญ์เราะฮฺหมายถึงการอพยพ
แม้มุสลิมทั่วโลกไม่เฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺศักราช แต่ในวันที่ 9 และ 10 ของเดือนมุฮัรฺร็อม ประชาคมมุสลิมซุนนีส่วนใหญ่จะมีประเพณีปฏิบัติร่วมกันอย่างหนึ่ง นั่นคือการถือศีลอดด้วยความสมัครใจ บางชุมชนเชื่อว่าวันที่ 10 เดือนมุฮัรฺร็อมเป็นวันที่เรือของโนอาห์(นบีนูฮฺ)ได้เกยตื้นบนภูเขาญูดีและโนอาห์ได้เอาเมล็ดธัญพืชทั้งหมดที่เหลืออยู่ในเรือมากวนเป็นอาหารแจกผู้ที่เหลือรอดชีวิต จึงได้จัดประเพณีกวนเมล็ดธัญพืชที่เรียกว่า “บูโบอาชูรอ” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว
ส่วนชุมชนชาวชีอะฮ์จะจัดพิธีอาลัยอาวรณ์ถึงการจากไปของอิมามฮุเซนหลานของนบีมุฮัมมัด
Share:

EP.2 | ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบรรดานบี


เข้าใจกุรอานผ่านเรื่องราวของบรรดานบี EP.2 | ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับบรรดานบี – มีความเข้าใจในเรื่องของนบี และรอซูล ทราบถึงความสำคัญ คุณสมบัติ และเชื่อสายของบรรดานบีต่างๆ

ข้อมูลจาก  : http://www.knowislamthailand.org/
Share:

EP.1 | ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคัมภีร์กุรอาน


เข้าใจกุรอานผ่านเรื่องราวของบรรดานบี EP.1 | ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคัมภีร์กุรอาน
– อาจารย์บรรจง บินกาซัน ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับข้อมูลที่จำเป็นต้องรู้ของ คัมภีร์กุรอาน อธิบายความแตกต่างของคัมภีร์ก่อนหน้านี้ รายละเอียดเรื่องซูเราะฮฺ สาระของคัมภีร์กุรอาน และรายละเอียดอีกมากมาย
ข้อมูลจาก : http://www.knowislamthailand.org/understand-the-quran/knowledge-of-the-quran/

Share:

อีดุลอัฎฮาที่สตูล

บรรจง บินกาซัน
สตูลเป็นจังหวัดเล็กๆที่มีเสน่ห์และสงบริมชายฝั่งทะเลอันดามัน เนื่องจากในอดีตเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของไทรบุรีที่ถูกแยกออกไปเป็นรัฐเคดาห์ของมาเลเซีย ผู้คนบางส่วนจึงสามารถสื่อสารด้วยภาษามลายูได้ แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักพูดภาษาไทยกลางและประชาชนไม่ต่ำกว่า 60% ในจังหวัดสตูลเป็นมุสลิม

ในช่วงปีกว่าๆที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปสัมผัสบรรยากาศเฉลิมฉลองวันเทศกาลสำคัญของศาสนาอิสลามที่จังหวัดสตูลถึงสองครั้ง คือเทศกาลวันอีดุลฟิฏร์และวันอีดุลอัลฎฮา จึงอยากนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้และเผื่อว่าชุมชนมุสลิมจะนำไปทำตามก็ถือว่าเป็นเรื่องดี
ในเทศกาลอีดุลฟิฏร์ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดเดือนถือศีลอดเมื่อปีที่แล้ว กลุ่มนักธุรกิจเอกชนมุสลิม ร้านค้าและหน่วยงานราชการในอำเภอเมืองได้ร่วมกันเปิดซุ้มอาหารคาวหวานและเครื่องดื่มประมาณ 300 ซุ้มบนถนนหน้ามัสยิดมัมบังเลี้ยงคนทั่วไปไม่เฉพาะมุสลิมได้กินกันเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการสิ้นสุดเดือนรอมฎอน บนเวทีของงานฉลองมีการแสดงทางวัฒนธรรมและการบรรยายให้ความรู้แก่ผู้มาร่วมฉลองในงาน งานฉลองเป็นไปอย่างครึกครื้น ไม่มีการทะเลาะวิวาทต่อยตีกันเพราะไม่มีสุราและมหรสพในงาน

มาในปีนี้ เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปร่วมฉลองเทศกาลวันอีดุลอัฎฮาซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองให้พี่น้องมุสลิมทั่วโลกที่มีโอกาสไปทำพิธีฮัจญ์ที่เมืองมักก๊ะฮฺ แต่งานเฉลิมฉลองวันอีดุลอัฎฮาคราวนี้ต่างไปจากงานฉลองวันอีดุลฟิฏร์
ผู้จัดงานครั้งนี้มีแนวความคิดว่าในวันอีดุลอัฎฮา มุสลิมจากทั่วโลกไปชุมนุมกันที่เมืองมักก๊ะฮฺ ดังนั้น มุสลิมในตัวเมืองสตูลก็ควรมารวมตัวกันฉลองกันที่ใดที่หนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ผู้จัดงานจึงเลือกเอาลานกว้างหน้าสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสตูลเป็นสถานที่จัดงานโดยมีบรรยากาศแบบครอบครัว ผมถูกเชิญให้ไปเป็นส่วนหนึ่งในงานนี้ด้วย
งานนี้จัดบรรยากาศแบบเลี้ยงดูปูเสื่อ คือผู้จัดงานได้เอาเสื่อมาปูในลานกว้างเพื่อให้ผู้คนพาครอบครัวนำอาหารมาแบ่งกันกินบนพื้นหน้าเวที ถ้าใครมามือเปล่า ภายในงานก็มีซุ้มอาหารที่จัดเตรียมไว้อย่างเหลือเฟือ แต่อาหารที่จัดเลี้ยงในงานครั้งนี้ต่างไปจากอาหารในงานฉลองครั้งที่แล้ว เพราะอาหารส่วนใหญ่ทำมาจากเนื้อกุรฺบานที่พี่น้องมุสลิมจากที่ต่างๆบริจาคมาให้ทำเป็นอาหารสารพัดเมนู
เนื้อกุรฺบานเป็นเนื้อแพะหรือแกะหรือวัวที่ถูกเชือดพลีในเทศกาลอีดุลอัฎฮาเพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมแห่งความศรัทธาอันแน่วแน่ของนบีอิบรอฮีมที่มีต่อพระเจ้าจนถึงขึ้นยอมเชือดพลีอิสมาอีลบุตรคนแรกให้แก่พระเจ้าที่ต้องการทดสอบความศรัทธา แต่ก่อนจะลงมีดเชือด พระเจ้าได้สั่งให้นบีอิบรอฮีมเอาแกะหรือแพะมาเชือดแทน พิธีการเชือดสัตว์พลีจึงเป็นส่วนหนึ่งของพิธีฮัจญ์ซึ่งคนที่ไม่ได้ไปทำฮัจญ์สามารถมีส่วนร่วมได้

คำว่า “กุรฺบาน” หมายถึงการเข้าใกล้ การเชือดสัตว์พลีเนื่องในเทศกาลอีดุลอัฎฮาจึงเป็นการเข้าใกล้พระเจ้าด้วยการเสียสละแกะหรือแพะหรือวัวเพื่อเอาเนื้อไปกินและแจกจ่ายแก่ผู้คน เนื้อของสัตว์ที่ถูกเชือดเป็นกุรฺบานจะถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของเจ้าของ อีกส่วนหนึ่งแจกจ่ายให้ญาติมิตรและอีกส่วนหนึ่งแจกจ่ายให้แก่คนยากจน แต่ส่วนใหญ่แล้ว เนื้อกุรฺบานจะถูกนำไปแจกจ่ายแก่คนยากจน
ผมรู้สึกทึ่งและชื่นชมในแนวความคิดของผู้จัดงานครั้งนี้ที่รณรงค์ให้มุสลิมออมเงินสัปดาห์ละ 100 บาทเพื่อเอาไว้ทำกุรฺบาน เก็บทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปีก็ได้เงินห้าพันกว่าบาทซึ่งสามารถทำกุรฺบานในปีหน้าได้อย่างสบายๆ ถ้าการรณรงค์ได้รับการตอบสนอง ผู้ที่จะได้รับผลดีตามมาก็คือผู้เลี้ยงปศุสัตว์ที่จะต้องขยายและบำรุงพันธุ์สัตว์ของตนให้เป็นที่ต้องการ เพราะแพะแกะหรือวัวที่จะนำไปทำกุรฺบานต้องสุขภาพดี อ้วนท้วนสมบูรณ์ ไม่มีตำหนิหรือพิการ
ในออสเตรเลียและในประเทศยุโรปที่มีอุปสรรคเรื่องการเชือดสัตว์ มุสลิมในประเทศเหล่านั้นได้ส่งเงินไปยังชุมชนในประเทศมุสลิมที่ยากจนเพื่อซื้อปศุสัตว์ทำกุรฺบานและแจกจ่ายเนื้อแก่ผู้คนในประเทศนั้นได้กินกัน
นี่เป็นหนึ่งในคุณานุประโยชน์จากพิธีฮัจญ์ที่คัมภีร์กุรอานได้กล่าวไว้

ข้อมูลจาก Facebook : Banjong Binkason
Share:

ฮะดีษ : ความประเสริฐของการซิกรุลลอฮฺ


จาก  อบูฮุร็อยเราะฮฺ :  ท่านรอซูลุลลอฮฺ  กล่าวว่า
"ใครที่กล่าว  "ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ วะฮฺดะฮู ลาชะรีกะละฮฺ  ละฮุ้ลมุ้ลกุ้ วะละฮุลฮัมดุ  วะฮุวะอะลา กุลลิชัยอิน เกาะดัรฺ"  หนึ่งร้อยครั้ง  จะได้รับรางวัลตอบแทนเหมือนกับรางวัลตอบแทนที่ได้จากการปลดปล่อยทาสสิบคน 

และในบัญชีของเขาจะถูกบันทึกไว้หนึ่งร้อยความดี
และหนึ่งร้อยบาปจะถูกลบไปจากบัญชีของเขา 

และมัน (การกล่าวของเขา)  จะเป็นโล่ห์ป้องกันชัยฏอนให้เขาในวันนั้นจนถึงกลางคืน  และจะไม่มีใครสามารถทำการงานที่ดีกว่าได้  นอกจากคนที่ทำมากกว่าเขา"


(บันทึกโดย  บุคอรี)


จากห้องเรียน อ.บรรจง บินกาซัน
ศูนย์อบรมศาสนาและจริยธรรม มัสยิดต้นสน
วันเสาร์ที่  14 ตุลาคม 2560


Share:

ฮะดีษ : สิ่งที่ท่านคุ้มครองต่ออัลลอฮฺนบีขอความ

จาก  มุศอับ  :  ซะห์ เคยแนะนำ ห้า คำพูด และกล่าวว่า ท่านนบีเคยแนะนำเช่นนั้น (นั่นคือ)


"โอ้อัลลอฮฺ ฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์
ให้พ้นจากความขี้เหนียว

และฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์
ให้พ้นจากความขี้ขลาด

และฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์
ให้พ้นจากการถูกส่งกลับไปสู่วัยชราที่แก่หง่อม

และฉันขอความคุ้มครองต่อพระองค์
ให้พ้นจากฟิตนะฮฺ (การทดสอบและเคราะห์กรรม) ของโลกนี้ (นั่นคือ ฟิตนะฮฺของดัจญาล  เป็นต้น)

และฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ
ให้พ้นจากการลงโทษในหลุมฝังศพ"

(บันทึกโดย  บุคอรี)


จากห้องเรียน อ.บรรจง บินกาซัน
ศูนย์อบรมศาสนาและจริยธรรม มัสยิดต้นสน
วันเสาร์ที่  14 ตุลาคม 2560


ความรู้เพิ่มเติมจากห้องเรียน :

ท่านหญิงอาอิชะฮฺ เคยเล่าให้ท่านนบีฯฟังว่า "โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ หญิงสองคนชาวยิว ได้เข้ามาหาฉัน และกล่าวว่า "คนตายถูกลงโทษในหลุมฝังศพของพวกเขา"  ฉันคิดว่าหญิงชาวยิวทั้งสองโกหก"  ท่านนบีฯจึงกล่าวว่า "หญิงสองคนนั้นพูดความจริง  คนตายถูกลงโทษจริงๆ จนถึงขนาดที่ว่า สัตว์ทั้งหมดจะได้ยิน (เสียงที่เกิดจาก) การลงโทษพวกเขา"

นับตั้งแต่นั้นมา  ฉันมักจะเห็นท่านวิงวอนในการนมาซของท่าน เพื่อขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮฺ ให้พนจากการลงโทษในหลุมฝังศพ
Share:

อาจารย์ บรรจง บินกาซัน Live in Sydney เนื่องในวันอีดิลอัฎฮา 2014 ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย


อาจารย์ บรรจง บินกาซัน Live in Sydney เนื่องในวันอีดิลอัฎฮา 2014 ที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย
จัดขึ้นโดยความร่วมมือของสมาคมมุสลิมไทยในออสเตรเลีย (ITAA) จัดงานวันอีดิลอัฎฮาขึ้น โดยเชิญ ท่านอาจารย์ บรรจง บินกาซัน มาเป็นเกียรติน้ำละหมาด และบรรยายเกี่ยวกับศาสนาให้กับมุสลิมไทยในซิดนีย์ และยังได้เกียรติจากกงสุลไทยประจำนครซิดนีย์ ออสเตรเลีย มาร่วมงานเลี้ยง และรับประทานอาหารร่วมกัน .




Youtube Channel : ITAAislam
Share:

บทความที่ได้รับความนิยม

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน

บทความทั้งหมด

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

คลังบทความของบล็อก

Recent Posts

ผู้ติดตาม