แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ memory แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ memory แสดงบทความทั้งหมด

บันทึกความทรงจำเพื่อเป็นสิ่งเตือนใจ

บันทึกความทรงจำเพื่อเป็นสิ่งเตือนใจ
บรรจง บินกาซัน

บ่ายวันพุธที่ 12 ตุลาคม 2559 โรงพยาบาลศิริราช มีผู้คนมากมายเดินกันขวักไขว่  และที่ลานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์ไทยแผนใหม่   ผมเห็นผู้คนซึ่งส่วนใหญ่ใส่เสื้อสีชมพู ทะยอยไปชุมนุมกันสวดมนต์อธิษฐานให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้หายจากอาการประชวร   และมีนักข่าวไปรอทำข่าวอยู่ที่นั่นมากมาย   ผมเริ่มมีความรู้สึกวังเวง  แม้จะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายก็ตาม   ทั้งนี้ เพราะผมไม่อยากให้สิ่งที่ตัวเองคิดไว้ต้องมาเริ่มต้นเร็วเกินกว่าที่คิด


เมื่อผมเสร็จธุระและออกจากโรงพยาบาล   มีตำรวจมากมายมายืนกำกับการจราจรตามถนนที่มุ่งสู่โรงพยาบาลศิริราช   ผมยิ่งรู้สึกไม่สบายใจมากขึ้น  เมื่อรู้ว่าจะมีขบวนเสด็จของบุคคลสำคัญต่างๆในพระบรมราชวงศ์มายังโรงพยาบาลศิริราช   ผมเริ่มติดตามข่าวคราวอาการประชวรของพระองค์ด้วยความกังวล แม้ผมจะเป็นคนที่ยอมรับได้ว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด

วันรุ่งขึ้น สิ่งที่ผมไม่อยากให้เกิดเร็วกว่าที่คิดก็เกิดขึ้น  เมื่อสำนักพระราชวังออกแถลงการณ์ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต  หัวใจผมรู้สึกหวิวขึ้นมาทันทีเมื่อได้ยินข่าว แต่เนื่องจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นความจริงสากล และตรงกับคำสอนของคัมภีร์กุรอานที่กล่าวว่า “ทุกชีวิตต้องได้ลิ้มรสความตาย” การยอมรับความจริงดังกล่าวจึงช่วยทำให้หัวใจรู้สึกผ่อนคลายลง   นี่คือประโยชน์จากคำสอนของศาสนาที่มีต่อหัวใจ
ผมเกิดมาในสมัยรัชกาลที่ 9 และได้เห็นพระองค์ทรงงานทั่วทุกภาคของประเทศไทยมาตั้งแต่เด็ก  และประทับใจในความห่วงใยที่พระองค์ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยทุกคนโดยไม่แบ่งแยก   จริยวัตรของพระองค์ทำให้ผมรู้สึกว่า งานคือชีวิตของพระองค์   ภาพของพระองค์ที่อยู่ในความทรงจำของผมมีมากมาย   แต่ที่ประทับใจที่สุดคือภาพพระพักตร์ที่มีหยดพระเสโท(เหงื่อ)ไหลที่ปลายพระนาสิก(จมูก)   ภาพพระองค์ทรงคุกเข่าลงนั่งสนทนากับหญิงชราที่มารับเสด็จโดยไม่ถือพระองค์   ภาพพระองค์ทรงสนทนากับแวเด็ง ปูเต๊ะ พระสหายแห่งสายบุรี เป็นต้น
จริยวัตรของพระองค์อีกอย่างหนึ่งที่ผมประทับใจในฐานะพสกนิกรชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามก็คือ  บทบาทการเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก  ผู้ทรงให้การอุปถัมภ์แก่ทุกศาสนาในประเทศไทย  และทำให้ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามได้รับเสรีภาพทางศาสนามากกว่าในอีกหลายประเทศ   พระองค์ทรงให้การสนับสนุนการแปลและการจัดพิมพ์คัมภีร์กุรอานเป็นภาษาไทย  ซึ่งทำให้คนไทยไม่ว่าศาสนิกใดสามารถเข้าถึงความหมายของคัมภีร์กุรอานได้ ทรงอุทิศพระราชทรัพย์บริจาคเพื่อสร้างมัสยิดบางแห่งอย่างเช่น มัสยิดนูรุลเอี๊ยะฮ์ซาน ตำบลห้วยทรายใต้ จังหวัดเพชรบุรี   การเสด็จเยี่ยมมัสยิดต้นสน ตั้งแต่ผมยังไม่เกิด   การให้เกียรติแก่สังคมมุสลิมด้วยการมาเป็นองค์ประธานในงานเมาลิดกลาง  ซึ่งทำให้พสกนิกรชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามได้มีโอกาสรับเสด็จพระองค์อย่างใกล้ชิด

เคราะห์กรรมและการสูญเสียเป็นการทดสอบอย่างหนึ่งซึ่งทุกคนต้องพบในชีวิต   คัมภีร์กุรอานมีคำสอนถึงเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า “เรา(พระเจ้า)จะทดสอบสูเจ้าด้วยบางสิ่งจากความกลัว ความหิวและการสูญเสียทรัพย์สิน  ชีวิตและพืชผล แต่จงแจ้งข่าวดีแก่ผู้อดทนที่เมื่อเคราะห์กรรมมาประสบกับพวกเขา   พวกเขาก็กล่าวว่า ‘แท้จริง เราเป็นกรรมสิทธิ์ของพระเจ้าและยังพระองค์ที่เราจะกลับไป”   คนเหล่านี้แหละที่จะได้รับพรประเสริฐและความเมตตาจากพระเจ้า   และคนเหล่านี้แหละคือผู้ได้รับการนำทางจากพระเจ้า’”

แม้หัวใจจะรู้สึกปวดร้าวเพียงใดต่อการจากไปของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงสร้างคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดินไทยอย่างอเนกอนันต์  และเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย   เวลาที่ผ่านไปจะค่อยๆเยียวยารักษาความรู้สึกเสียใจและเสียดายให้หมดไป   แต่อย่างไรก็ตาม การจากไปของพระองค์ต้องไม่ทำให้เราเสียสติจนลืมสืบสานเจตนารมณ์ที่พระองค์ทรงวางไว้เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของประเทศไทย

Share:

บทความที่ได้รับความนิยม

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน

บทความทั้งหมด

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

คลังบทความของบล็อก

Recent Posts

ผู้ติดตาม