แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ศาสนบัญญัติ แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ศาสนบัญญัติ แสดงบทความทั้งหมด
การขลิบหนังปลายอวัยวะเพศชาย : ความสำคัญทางการแพทย์และศาสนา
การขลิบหนังปลายอวัยวะเพศชาย : ความสำคัญทางการแพทย์และศาสนา
ถึงแม้ที่มาของมันจะไม่เป็นที่รู้กัน แต่หลักฐานเก่าแก่ที่สุดของการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายสามารถย้อนหลังไปได้ถึงสมัยอียิปต์ประมาณ 2300 ปีก่อนคริสตกาล เดิมทีฟาโรห์ได้ใช้การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายเพื่อเป็นเครื่องหมายของพวกทาส เมื่อพวกโรมันเข้ามายึดครองอียิปต์เมื่อ 30 ปีก่อนคริสตกาล การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศให้แก่เด็กหนุ่มก็แพร่ไปทั่วโลก หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มันก็เป็นที่ปฏิบัติกันแทบจะเป็นของสากลในตะวันตก
อย่างไรก็ตาม ในอเมริกาเหนือปัจจุบัน ประมาณกันว่า 85% ของเด็กเกิดใหม่ได้ถูกขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ในยุโรปมีแค่เพียง 10% แต่ในเอเซียและแอฟริกามีแค่เพียง 5% เท่านั้น ส่วนในหมู่ชนที่มิใช่ยิวของยุโรป สแกนดิเนเวียและอเมริกาใต้นั้นมีการปฏิบัติน้อยมาก ทีนี้ขอให้เรามาดูข้อเท็จจริงเกี่ยวกับขลิบหนังปลายอวัยวะเพศและประโยชน์ทางด้านการแพทย์ของมันดูบ้าง
ความสำคัญทางด้านพิธีกรรม
การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายเป็นที่ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางในหมู่ชนเผ่าที่ถือผีสางเทวดาในอาฟริกา หมู่เกาะมาเลย์ นิวกินี ออสเตรเลียและเกาะแปซิฟิก กลุ่มคนพื้นเมืองบางกลุ่มในอเมริกาใต้และอเมริกากลางก็มีพิธีการทำผ่าตัดอวัยวะเพศบางอย่างแก่เพศชายและเพศหญิงเช่นกัน
ในชนบางเผ่า การขลิบหนังปลายอวัยวะเพศมักจะเป็นพิธีกรรมที่ทำกับเด็กที่ก้าวเข้าสู่วัยหนุ่ม บางครั้ง ความเจ็บปวดในการตัดหนังปลายอวัยวะเพศนี้ได้ถูกใช้เป็นเครื่องเซ่นแก่ภูตผีปีศาจ ขณะเดียวกัน การตัดหนังปลายอวัยวะเพศก็เป็นสิ่งยืนยันถึงความพร้อมในการแต่งงานและความเป็นผู้ใหญ่และเป็นสิ่งยืนยันว่าบุคคลผู้นั้นสามารถทนความเจ็บปวดได้ นอกจากนี้แล้ว การตัดหนังปลายอวัยวะเพศชายยังเป็นสิ่งที่แยกวัฒนธรรมของคนกลุ่มหนึ่งออกจากกลุ่มคนที่ไม่ได้ทำเช่นนั้นด้วย
ในหมู่ชาวอียิปต์โบราณ โดยทั่วไปแล้ว เด็กผู้ชายจะถูกตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศระหว่างอายุ 6-12 ขวบ การผ่าตัดในวัยแรกรุ่นนี้เป็นตัวแทนถึงการเริ่มต้นเข้าสู่ความเป็นผู้ชาย
พิธีกรรมทางศาสนา
ประเพณีและกฎหมายของชาวยิวเกี่ยวกับการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศนั้นมาจากคัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์ตัลมูดและจารีตของชาวยิวซึ่งถ่ายทอดกันมาจากชนรุ่นหนึ่งมายังชนอีกรุ่นหนึ่ง
ในประเพณีทางศาสนาของชาวยิว การขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศของทารกเพศชายถือเป็นสิ่งจำเป็นในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของพันธะสัญญากับพระเจ้า ตามกฎหมายของพวกเลวี ทารกเพศชายชาวยิวทุกคนจะต้องได้รับการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศในวันที่ 8 หลังจากการเกิด คำบัญชาแรกของคัมภีร์สำคัญห้าฉบับก็คือเด็กผู้ชายทุกคนจะต้องตัดหนังหุ้มปลายองคชาติ (ดูฉบับปฐมกาล 17:10-14) และการปฏิบัติตามพิธีกรรมนี้ถือว่าเป็นความสำคัญทางศาสนา
ตามคัมภีร์ไบเบิล การตัดหนังหุ้มปลายองคชาติเป็นคำบัญชาแรกที่พระเจ้ามีต่ออับราฮัมและเป็นศูนย์กลางของศาสนายูดาย อับราฮัมบิดาของชาวยิวรับใช้พระผู้เป็นเจ้าด้วยความซื่อสัตย์มาเป็นเวลาหลายปี แต่ท่านก็เพิ่งจะมาขลิบหนังปลายองคชาตของท่านตามคำบัญชาของพระเจ้าในตอนที่ท่านอายุได้ 99 ปี (ดูฉบับปฐมกาล 17:1)
ในพันธะสัญญาเก่าฉบับปฐมกาล 17:10-11 ก็ได้มีการเขียนไว้ว่า : “ นี่เป็นพันธะสัญญาของเราซึ่งเจ้าจะต้องรักษาระหว่างเรากับเจ้าและเชื้อสายของเจ้าที่จะสืบมา คือผู้ชายทุกคนจะต้องเข้าสุหนัต เจ้าจงเข้าสุหนัตหนังหุ้มปลายองคชาติของเจ้า นี่จะเป็นการหมายสำคัญของพันธะสัญญาระหว่างเรากับเจ้า” พันธะสัญญาเก่าได้เอ่ยถึงคำว่า “บริส” (ในภาษาฮิบรูหมายถึงพันธะสัญญา) ถึง 13 ครั้งด้วยกันเกี่ยวกับการเข้าสุหนัต
หน้าที่ในการเข้าสุหนัตให้เด็กชาวยิวนั้นตกอยู่ที่พ่อ ในกรณีที่พ่อไม่อยู่หรือไม่สามารถจัดการทำพิธีเข้าสุหนัตได้ หน้าที่ก็จะตกเป็นของสังคมและชาวยิวทุกคนจำเป็นต้องทำสุหนัต
ผู้ทำหน้าที่เข้าสุหนัตถูกเรียกว่า “โมเฮล” ซึ่งเป็นผู้ผ่าตัดที่มีความชำนาญเป็นพิเศษในการทำสุหนัต หลังจากทำพิธีกรรมแล้ว โมเฮลจะตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศของทารกพร้อมกับตั้งชื่อและอวยพรให้ คนที่จะเป็นโมเฮลได้นั้นจะต้องเป็นผู้เกรงกลัวพระเจ้า ต้องเป็นชาวยิวผู้ปฏิบัติตามคัมภีร์และได้รับการฝึกอบรมในทางด้านกฎหมายของชาวยิวและทางการแพทย์
สำหรับชาวยิว การนำทารกไปขลิบหนังปลายอวัยวะเพศโดยศัลยแพทย์ที่โรงพยาบาลนั้นยังถือว่าไม่เป็นสมบูรณ์ตามความต้องการของพิธีการเข้าสุหนัตแบบชาวยิว เพราะยังจะต้องมีพิธีกรรมทางศาสนาอีก
ลักษณะของธรรมชาติแห่งอิสลาม
ในหมู่ชาวอาหรับ การเข้าสุหนัตมีมาก่อนที่จะมีอิสลามเกิดขึ้น (ค.ศ.570) ในหมู่ชาวอาหรับและชาวเอธิโอเปียนั้น การเข้าสุหนัตจะทำหลังจากการเกิดได้ไม่นานหรือบางทีสองสามปีหลังการเกิด อบูฮุร็อยเราะฮฺรายงานว่าท่านศาสนทูตของอัลลอฮได้กล่าวว่า “ อิบรอฮีมทำสุหนัตตนเองหลังจากที่ท่านอายุได้ 80 ปี”
อิสลามต้องการให้ชายมุสลิมขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศเพื่อที่จะส่งเสริมความสะอาด ท่านศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวว่า : “ มีการกระทำห้าสิ่งที่ใกล้เคียงกับฟิตเราะฮฺ (ธรรมชาติอันบริสุทธิ์) หรือห้าสิ่งที่เป็นการกระทำตามฟิตเราะฮฺ นั่นคือ การเข้าสุหนัต การโกนขนอวัยวะเพศ การตัดเล็บ การถอนขนรักแร้และการขลิบหนวด”
นักวิชาการหลายคนกล่าวการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น นักวิชาการสำนักชาฟีอีถือว่าการเข้าสุหนัตควรจะทำในวันที่เจ็ดหลังจากที่เด็กเกิด แต่อัช-เชากานีย์กล่าวว่า “ไม่มีสิ่งใดที่ระบุไว้อย่างชัดเจนถึงเรื่องเวลา”
การเข้าสุหนัตได้หายไปจากประเพณีของชาวพุทธ ชาวฮินดูและลัทธิขงจื๊อ นอกจากนั้นแล้ว คริสตจักรเองก็ไม่มีหลักการที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ชาวคริสเตียนไม่จำเป็นต้องเข้าสุหนัตได้ถูกบันทึกไว้ในคัมภีร์ไบเบิลฉบับกิจการของอัครทูตบทที่ 15 ปัจจุบัน มีแต่คริสตจักรอบิสสิเนียเท่านั้นในบรรดาองค์การคริสตจักรที่ยอมรับการเข้าสุหนัตว่าเป็นพิธีกรรมทางศาสนา
การทำสุนัตทางด้านการแพทย์
นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 พลเมืองที่พูดภาษาอังกฤษจำนวนมากได้หันมาทำสุหนัตกันด้วยเหตุผลทางการแพทย์ ในประเทศตะวันตก ได้มีการขลิบหนังปลายองคชาติอย่างกว้างขวางเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านความสะอาด ในโรงพยาบาลหลายแห่งจะตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศให้แก่เด็กเกิดใหม่เป็นประจำเว้นแต่จะไม่ได้รับคำยินยอมจากผู้ปกครองเด็ก ในทางการแพทย์สมัยใหม่ การตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศของผู้ชายถือเป็นการผ่าตัดเล็กที่กระทำให้เด็กเพื่อความสะอาด จากทัศนะทางด้านการแพทย์ การเข้าสุหนัตก็คือการตัดหนังหุ้มปลายองคชาติออกเพื่อให้หนังหุ้มอวัยวะเพศหดหายเข้าไปข้างหลังหัวองคชาติ ในตอนเกิด เด็กๆจะมีหนังที่หุ้มปลายองคชาติอยู่ แต่เมื่อหนังตรงปลายถูกตัด หัวขององคชาติก็จะถูกเปิดออกซึ่งจะทำให้สิ่งสกปรกไม่สามารถเข้าไปหมักหมมส่งกลิ่นเหม็นอยู่ที่ปลายองคชาติและอาจก่อให้เกิดเชื้อโรคได้
แพทย์ในศตวรรษที่ 19 ได้แนะนำให้ตัดหนังหุ้มปลายองคชาติเพื่อการป้องกันโรคภัยต่างๆ เช่นโรคฮิสทีเรีย การแพร่เชื้อกามโรค เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ยังได้มีการยกหลักฐานมาอ้างอีกว่าคนที่เข้าสุหนัตจะมีอัตราการเป็นมะเร็งทางอวัยวะเพศต่ำมาก
การศึกษาวิจัยเมื่อเร็วๆนี้พบว่าการตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศให้แก่ลูกของตนเองนั้นมีผลดีทางการแพทย์บางอย่าง เช่น โอกาสที่จะติดโรคทางเดินปัสสาวะน้อยมาก เด็กที่ไม่ได้ตัดหนังหุ้มหลายองคชาติจะมีโอกาสไตอักเสบเป็น 10 เท่าของเด็กที่ตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศตั้งแต่ตอนเป็นทารก แม้แต่การตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศในตอนเป็นผู้ใหญ่ก็ยังป้องกันโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ สำหรับไตแล้ว การติดเชื้อเป็นอันตรายที่สุดในสามเดือนแรกซึ่งในระหว่างนี้ผู้ป่วยมักจะต้องไปโรงพยาบาลและอาจจะมีผลติดเชื้อรุนแรงอย่างอื่นติดตามมา การทำงานของไตและการหลั่งฮอร์โมนผิดปกติสามารถเกิดขึ้นกับการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะได้ นอกจากนี้แล้ว การติดเชื้อแบคทีเรียจากสิ่งสกปรกที่หมักหมมอยู่ภายใต้หนังหุ้มปลายองคชาติก็อาจนำไปสู่การติดเชื้อของไตได้เช่นกัน
ผู้ชายที่เข้าสุหนัตแทบจะไม่เป็นมะเร็งที่อวัยวะเพศเลย การติดเชื้อที่หนังหุ้มปลายองคชาติสามารถเกิดขึ้นกับผู้ชายที่ไม่เข้าสุหนัตในอายุเท่าใดก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นในตอนอายุ 2-5 ปี ซึ่งเป็นวัยที่หนังหุ้มปลายองคชาติยังแยกไม่หมด ดังนั้น จึงไม่สามารถถลกให้เปิดออกได้เต็มที่เพื่อทำความสะอาด นอกจากนั้นแล้ว เด็กเองก็ไม่สามารถทำความสะอาดให้ตัวเองได้และในที่สุดก็จะต้องไปตัดเอาในตอนหลังซึ่งเสียค่าใช้จ่ายแพง ด้วยเหตุนี้ การทำสุหนัตให้แก่เด็กตั้งแต่เกิดมาจึงทำให้สามารถรักษาความสะอาดได้ตลอดชีวิต
การศึกษายังแสดงให้เห็นว่าคนที่ตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศมีอัตราเสี่ยงต่อการติดโรคทางเพศน้อยมาก ส่วนผู้ชายที่ไม่ตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศนั้นจะมีโอกาสติดเชื้อมากกว่า เพราะในระหว่างการมีความสัมพันธ์ทางเพศนั้น หนังหุ้มปลายอวัยวะเพศสามารถถลอกหรือเป็นแผลเล็กๆที่ทำให้เชื้อไวรัสเข้าไปในบาดแผลนั้นได้ เป็นที่คาดกันว่าหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศอาจจะปล่อยให้ไว้รัสและเชื้อโรคอื่นๆสามารถอยู่รอดได้ยาวนานกว่าที่อยู่ข้างนอกและมีเวลามากกว่าที่จะเข้าไปในร่างกาย เมื่อเร็วๆนี้มีการพบว่าเซลล์บางอย่างในหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศสามารถที่จะดักไวรัสเอชไอวีและทำให้เกิดการติดเชื้อได้
ความจริงแล้ว การตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากในประเทศยากจนที่มีโรคระบาดและไม่สามารถจัดมาตรฐานสุขอนามัยทางการแพทย์ได้
การตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศไม่ได้ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานทางเพศลดน้อยถอยลงแต่อย่างใด ในทางตรงข้าม จากหลักฐานที่ถูกตีพิมพ์แสดงให้เห็นว่าคนที่ตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศสามารถมีกิจกรรมทางเพศได้หลากหลายและผู้หญิงจะชอบผู้ชายที่ตัดหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศเพราะเหตุผลเรื่องความสะอาดและสุขอนามัย
บทความโดยบรรจง บินกาซัน
สัญญาณของการอ่อนศรัทธา
สัญญาณของการอ่อนศรัทธา
รถยนต์ต้องการพลังงานไฟฟ้าเพื่อการทำงานของเครื่องยนต์ฉันใด ชีวิตก็ต้องการพลังเพื่อผลักดันตัวตนไปสู่จุดหมายปลายทางฉันนั้น แต่พลังของชีวิตที่แท้จริงนั้นมิใช่อาหารที่หล่อเลี้ยงร่างกาย หากแต่เป็นความศรัทธาที่จะตัดสินจุดหมายปลายของเราในภพหน้า ดังนั้น มุสลิมจึงต้องพยายามรักษาความศรัทธาให้เต็มอยู่เสมอเพื่อที่ชีวิตของเราจะได้เดินทางไปสู่จุดหมายนั้น และถ้าหากว่าท่านพบอาการต่อไปนี้เกิดขึ้นกับตัวของท่าน ก็ขอให้รู้ว่านั่นคือสัญญาณเตือนให้รู้ว่าพลังแห่งความศรัทธาของท่านกำลังอ่อนลงแล้ว สัญญาณดังกล่าวได้แก่
- ทำผิดแล้วยังไม่รู้สึกว่าตัวเองผิด
- หัวใจแข็งกระด้างและไม่ต้องการที่จะอ่านกุรอาน
- รู้สึกขี้เกียจที่จะทำความดี เช่น ล่าช้าในการนมาซ
- ละทิ้งแบบอย่างคำสอนของท่านนบีฯ
- อารมณ์ฉุนเฉียว ตัวอย่างเช่น หงุดหงิดในเรื่องเล็กๆน้อยๆและชอบกระฟัดกระเฟียด
- ไม่รู้สึกอะไรเมื่อได้ยินถ้อยคำจากกุรอาน เช่นเมื่ออัลลอฮฺเตือนถึงการลงโทษหรือแจ้งข่าวดี
- รู้สึกยากลำบากในการรำลึกถึงอัลลอฮฺ
- ไม่รู้สึกอะไรเมื่อมีการทำสิ่งที่ฝืนบทบัญญัติแห่งอิสลามเกิดขึ้น
- อยากได้ฐานะและทรัพย์สิน
- ไม่ต้องการที่จะจากทรัพย์สินไป
- สั่งให้คนอื่นทำดี แต่ตัวเองไม่ทำ
- รู้สึกดีใจเมื่อเห็นคนอื่นไม่ได้รับความก้าวหน้า
- เห็นคนทำความดีเล็กๆน้อยๆเป็นเรื่องขบขัน เช่น การทำความสะอาดมัสญิด
- ไม่รู้สึกเป็นห่วงเป็นใยในสถานการณ์ของมุสลิม
- ไม่รู้สึกมีความรับผิดชอบที่จะทำอะไรเพื่อส่งเสริมอิสลาม
- ไม่สามารถเผชิญกับความสูญเสียได้ เช่น ร้องไห้คร่ำครวญในงานศพ
- ชอบที่จะเถียงโดยไม่มีเหตุผล
- คิดแต่เรื่องของตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น จงสำรวจตรวจสอบจุดต่างๆดังกล่าวมาอย่างสม่ำเสมอและพยายามเร่งปรับปรุงแก้ไขเสียเพื่อที่ชีวิตของเราจะได้ไปถึงปลายทางที่ดี
การนมาซ กุญแจไขไปสู่ชีวิตที่ดี
การนมาซ กุญแจไขไปสู่ชีวิตที่ดี
โดย มุซัมมิล ซิดดีกี
บรรจง บินกาซัน แปล
การปฏิบัตินมาซเป็นคำบัญชาของอัลลอฮฺ เป็นเสาหลักสำคัญที่สุดของอิสลาม เป็นสิ่งที่แบ่งแยกระหว่างผู้ศรัทธากับผู้ไม่ศรัทธา การนมาซมิใช่ทางเลือก หากแต่เป็นหน้าที่ มิใช่ครั้งหนึ่งหรือสองสามครั้งในสัปดาห์ แต่จะต้องปฏิบัติวันละห้าเวลา บรรดานบีทั้งหลายล้วนบอกให้ผู้คนของท่านปฏิบัตินมาซและอิสลามถือว่าการนมาซเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับศาสนา
บรรจง บินกาซัน แปล
การปฏิบัตินมาซเป็นคำบัญชาของอัลลอฮฺ เป็นเสาหลักสำคัญที่สุดของอิสลาม เป็นสิ่งที่แบ่งแยกระหว่างผู้ศรัทธากับผู้ไม่ศรัทธา การนมาซมิใช่ทางเลือก หากแต่เป็นหน้าที่ มิใช่ครั้งหนึ่งหรือสองสามครั้งในสัปดาห์ แต่จะต้องปฏิบัติวันละห้าเวลา บรรดานบีทั้งหลายล้วนบอกให้ผู้คนของท่านปฏิบัตินมาซและอิสลามถือว่าการนมาซเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับศาสนา
“จงรักษาการนมาซของสูเจ้า โดยเฉพาะการนมาซตรงกลาง และจงยืนต่อหน้าอัลลอฮฺดังบ่าวที่นอบน้อมด้วยความภักดี” (กุรอาน 2:238)
“จงนมาซตั้งแต่ดวงตะวันคล้อยไปจนถึงความมืดของกลางคืน และจงอ่าน กุรอานในยามรุ่งอรุณ เพราะการอ่านกุรอานในยามรุ่งอรุณจะเป็นพยาน นอกจากนี้แล้ว จงนมาซตะฮัจญุดในยามกลางคืน นี่เป็นการนมาซเพิ่มเติมสำหรับเจ้า ทั้งนี้เพื่อที่พระผู้อภิบาลของเจ้าจะได้ยกย่องเจ้าให้อยู่ในตำแหน่งที่ได้รับการสรรเสริญ” (กุรอาน 17:78 -80)
“และจงดำรงนมาซในช่วงท้ายของวันและในยามต้นของกลางคืน แท้จริง ความดีจะช่วยขจัดความชั่ว นี่คือข้อตักเตือนสำหรับผู้ที่ระลึกถึงอัลลอฮฺ” (กุรอาน 11:114)
การนมาซด้วยความบริสุทธิ์ใจและจริงใจจะช่วยผู้ปฏิบัตินมาซให้เข้าสวรรค์ในโลกหน้าและมันเป็นกุญแจไขไปสู่ความดีทุกอย่าง ความจริงแล้ว ประโยชน์ของการนมาซนั้นมีมากมาย ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ทั้งในด้านวิญญาณ ด้านศีลธรรม ด้านกายภาพ และส่งผลดีถึงบุคคลและสังคม
การนมาซเป็นสายสัมพันธ์และการติดต่อสื่อสารกันระหว่างเรากับพระเจ้า ถ้าหากท่านรักอัลลอฮฺและต้องการให้อัลลอฮฺทรงรักท่าน ก็ขอให้รู้ว่าการนมาซคือสิ่งที่ทำให้อัลลอฮฺทรงรักท่าน ท่านนบีมุฮัมมัดได้กล่าวว่า “สิ่งที่ทำให้ฉันเบิกบานใจก็คือการนมาซ” ท่านเคยสั่งบิลาลให้อะซาน(ประกาศ)เรียกคนมานมาซว่า “บิลาล ทำให้เราเบิกบานใจด้วยการนมาซหน่อยซิ” ท่านนบีเคยใช้เวลานานในการนมาซตอนกลางคืน บางครั้ง ท่านเคยใช้เวลาถึงหนึ่งในสามของกลางคืนไปกับการนมาซและบางครั้งก็ใช้เวลาถึงครึ่งคืนหรือมากกว่านั้นก็มี เพราะท่านมีความสุขอยู่กับการนมาซซึ่งทำให้หัวใจของท่านเบิกบานและผ่องแผ้ว
การนมาซทำให้เราได้รับการตอบแทนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า โครงสร้างทั้งหมดของการนมาซก็สวยงามและน่าสนใจจนไม่มีการแสดงความเคารพสักการะในศาสนาใดๆสามารถมาเทียบได้ การนมาซมิใช่เป็นแค่เพียงการอ่านหรือการเคลื่อนไหวทางร่างกายเท่านั้น แต่ทุกส่วนของชีวิตทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นความคิด จิตวิญญาณและร่างกายจะมีส่วนร่วมกันอย่างกลมกลืนในระหว่างการนมาซ
การนมาซสามรถปฏิบัติตามลำพังเป็นการส่วนตัวหรือจะทำร่วมกันเป็นหมู่คณะ จะทำในที่ส่วนตัวหรือจะทำในที่สาธารณะก็ได้ ถ้าเราปฏิบัตินมาซอย่างถูกต้องตามเจตนารมณ์ของการนมาซ ทุกสิ่งในชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพระเจ้าก็จะดีเพราะเราจะใช้ชีวิตด้วยความสำนึกถึงพระองค์อยู่เสมอ ความสัมพันธ์ของเรากับครอบครัว กับผู้ร่วมงาน กับเพื่อนบ้าน กับทุกคนและทุกสิ่งก็จะพลอยดีไปด้วย
การเตรียมตัวนมาซด้วยการชำระล้างบางส่วนของร่างกายไม่เพียงแต่จะทำให้อวัยวะที่ถูกชำระล้างมีความสะอาดหมดจดสดชื่นเท่านั้น แต่มันยังเป็นการทำให้เราสะอาดหมดจดจากบาปวันละห้าครั้งด้วย อัลลอฮฺได้ทรงกล่าวไว้ในคัมภีร์กุรอานว่าการนมาซจะช่วยขจัดความชั่วช้าลามกต่างๆให้หมดไป
“จงอ่านสิ่งที่ถูกประทานแก่เจ้าจากคัมภีร์และจงดำรงนมาซ แท้จริง การนมาซจะยับยั้งจากความลามกและการกระทำที่ชั่วช้า และการระลึกถึงอัลลอฮฺนั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺทรงรู้ดีถึงสิ่งที่สูเจ้าทำ” (กุรอาน 29:45)
ยิ่งไปกว่านั้น เรายังได้ถูกบอกไว้ในคัมภีร์กุรอานว่าบรรดาผู้ดำรงนมาซอยู่เป็นประจำนั้นจะไม่ประสบกับความหวาดวิตกหรือความกังวลเมื่อต้องเผชิญกับความทุกข์ยากลำบากด้วย อัลลอฮฺทรงกล่าวไว้ซึ่งมีความหมายว่า :
“แท้จริง มนุษย์ได้ถูกสร้างขึ้นมาเป็นผู้ที่ไม่อดทน เมื่อความทุกข์ยากลำบากเกิดขึ้นกับเขา เขาก็กลัดกลุ้มตีโพยตีพาย แต่เมื่อความดีมาประสบแก่เขา เขาก็กลายเป็นผู้ตระหนี่นอกจากบรรดาผู้ทำนมาซ” (กุรอาน 70:19-23)
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือการนมาซทำให้เราประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตโลกนี้และโลกหน้า อัลลอฮฺได้ทรงบอกไว้ในคัมภีร์กุรอานซึ่งมีความหมายว่า :-
“แน่นอน ความสำเร็จที่แท้จริงเป็นของบรรดาผู้ศรัทธาที่ปฏิบัตินมาซด้วยความนอบน้อมถ่อมตน ผู้ที่หลีกห่างจากสิ่งไร้สาระทั้งหลาย ผู้ใช้จ่ายซะกาตของพวกเขาไปในทางที่เหมาะสม ผู้ที่ปกป้องรักษาสิ่งอันพึงสงวนของตัวเอง….ผู้รักษาการนมาซของพวกเขาอย่างเข้มงวด พวกเขาเหล่านี้คือทายาทที่จะได้รับมรดกแห่งสวรรค์และพวกเขาจะได้พำนักอยู่ในนั้นตลอดไป” (กุรอาน 23 : 1 -11)
ผลดีของการนมาซในชีวิตประจำวัน
การนมาซจำเป็นต้องมีความสะอาดของร่างกาย เสื้อผ้าและสถานที่สำหรับการนมาซ ดังนั้น คนที่นมาซเป็นประจำก็จะมีเสื้อผ้า ร่างกายและสภาพแวดล้อมที่สะอาด นอกจากนี้แล้ว การนมาซยังต้องทำในเวลาที่ได้ถูกกำหนดไว้ ดังนั้น การนมาซจะทำให้ผู้นมาซจะได้รับการปลูกฝังความรู้สึกถึงเรื่องความตรงต่อเวลาและเห็นคุณค่าของเวลา
ในการนมาซ มุสลิมจะต้องยืนอยู่ด้วยกันโดยไม่มีการแบ่งแยกเรื่องเผ่าพันธุ์ สีผิว ฐานะทางการเงินหรือตำแหน่งทางการเมือง ผู้ทำนมาซร่วมกันจึงได้เห็นถึงแนวความคิดเรื่องความเสมอภาค ความสมานฉันท์และความเป็นพี่น้องกัน ในการนมาซร่วมกัน ผู้นมาซจะต้องยืนอยู่หลังอิมาม(ผู้นำนมาซ)และต้องปฏิบัติตามอิมาม นี่คือการฝึกวินัย ความมีระเบียบและการจัดองค์กร ยิ่งไปกว่านั้น หากอิมามทำผิดในระหว่างการปฏิบัตินมาซ ผู้ที่อยู่ข้างหลังก็สามารถตักเตือนได้(ด้วยการกล่าวว่า “ซุบฮานัลลอฮฺ”) นี่เป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตย
ดังนั้น ขอให้เรานมาซเป็นประจำและนมาซอย่างด้วยความตั้งใจ ทั้งนี้เพื่อที่ผลดีและความสวยงามของการนมาซจะได้สะท้อนออกมาจากชีวิตของเรา
มุอาซ สาวกคนหนึ่งของท่านนบีมุฮัมมัดได้รายงานว่า “วันหนึ่ง ท่านนบีได้จับมือฉันและกล่าวว่า ‘ ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ ฉันรักท่าน ดังนั้น ฉันจึงขอแนะทำท่าน มุอาซ หลังนมาซแล้ว อย่าลืมกล่าวคำต่อไปนี้ : โอ้ อัลลอฮฺ โปรดทรงช่วยฉันให้รำลึกถึงพระองค์ ให้ขอบคุณพระองค์และเคารพสักการะพระองค์ในลักษณะที่ดีที่สุด’” (บันทึกโดยอันนะวะวี)
วันศุกร์ : วันพิเศษสำหรับมุสลิม
วันศุกร์ : วันพิเศษสำหรับมุสลิม
ท่านนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)ได้กล่าวว่า : “วันที่ดีที่สุดที่ดวงอาทิตย์ขึ้นคือวันศุกร์ วันนั้นเป็นวันที่อาดัมถูกสร้าง วันที่ท่านได้ถูกนำเข้าสวรรค์ วันที่ท่านได้ถูกขับออกจากที่นั่น และยามอวสานจะเกิดขึ้นในวันศุกร์” (รายงานโดยอบูฮุร็อยเราะฮฺ)
ท่านนบีฯจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่วันศุกร์เป็นอย่างมาก ท่านมีคำแนะนำต่างๆให้เราปฏิบัติในวันนั้นและท่านเองก็ได้ปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง เช่น ในวันศุกร์ ท่านแนะนำให้อ่านกุรอานซูเราะฮฺ อัซ-ซัจญ์ด๊ะฮฺและซูเราะฮฺ อัล-อินซานในการนมาซก่อนรุ่งอรุณเพราะมันครอบคลุมกิจการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับวันศุกร์ ท่านสั่งให้อาบน้ำ ใช้น้ำหอม แปรงฟัน ใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดและไปมัสญิดเพื่อนมาซวันศุกร์ให้เร็ว เมื่อไปถึงมัสญิดแล้วให้นมาซเคารพมัสญิด หากมีเวลาหลังนมาซก็ให้อ่านกุรอานและรำลึกถึงอัลลอฮให้มากๆ และนิ่งฟังคุฏบ๊ะฮฺ (ปาฐกถาธรรม) ด้วยความตั้งใจ เมื่อท่านนบีฯยืนอยู่บนแท่นมิมบัรฮ(แท่นยืนเทศนา)เพื่อกล่าวคำเทศนาประจำวันศุกร์ ดวงตาของท่านจะแดงเป็นประกายและท่านจะพูดเสียงดัง อย่างไรก็ตาม ท่านจะใช้เวลากล่าวคำเทศนาสั้นๆ แต่จะใช้เวลานมาซยาว
การไปนมาซวันศุกร์เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามที่อัลลอฮทรงประทานแก่มุสลิมและเป็นวันที่บรรดาผู้ศรัทธาควรจะมีความรู้สึกรื่นเริงยินดีเนื่องจากมีโอกาสที่ได้ไปร่วมนมาซกับผู้ศรัทธาคนอื่นๆ โดยปกติแล้ว วันศุกร์จะเป็นวันหยุดในประเทศมุสลิม วันศุกร์ได้ถูกกล่าวไว้ในกุรอานและคำว่าวันศุกร์(ญุมุอ๊ะฮ)ได้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อซูเราะฮฺหนึ่งของคัมภีร์กุรอานด้วย นั่นหมายความว่าอัลลอฮฺได้ทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่วันศุกร์ ดังนั้น อัลลอฮฺจึงมีคำสั่งสำคัญให้เราปฏิบัติตามในวันศุกร์ดังนี้ :-
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา เมื่อมีการประกาศให้ไปนมาซในวันศุกร์ ดังนั้น สูเจ้าจงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮและจงทิ้งการค้าขายทั้งหลายเสีย นั่นเป็นการดีกว่าสำหรับสูเจ้า ถ้าหากสูเจ้ารู้ และเมื่อการนมาซเสร็จสิ้นแล้ว สูเจ้าก็จงแยกย้ายกันไปบนหน้าแผ่นดินเพื่อแสวงความโปรดปรานของอัลลอฮ และจงรำลึกถึงอัลลอฮอย่างสม่ำเสมอเพื่อที่สูเจ้าจะประสบผลสำเร็จ” (กุรอาน 62:9-10)
การนมาซวันศุกร์(เศาะลาตุลญุมุอ๊ะฮฺ)เป็นหน้าที่สำคัญสำหรับมุสลิมชายทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่ที่สามารถไปร่วมนมาซได้และจะต้องไม่ขาดนมาซวันศุกร์เว้นเสียแต่ว่าจะมีเหตุผลจำเป็นจริงๆ การนมาซวันศุกร์เป็นการทดแทนการนมาซประจำตอนบ่าย(ซุฮฺรี่) ที่สำคัญก็คือ การนมาซวันศุกร์อย่างถูกต้องสมบูรณ์เป็นการชดใช้บาปบางอย่าง มันจะขจัดบาปเล็กๆที่เกิดขึ้นระหว่างการนมาซวันศุกร์ที่แล้วจนถึงนมาซวันศุกร์ครั้งหลังสุด การนมาซวันศุกร์มีความสำคัญแค่ไหนนั้นจะเห็นได้จากการที่ท่านนบีฯเคยถึงกับขู่ว่าจะเผาบ้านของคนที่ไม่ไปนมาซวันศุกร์ นอกจากนี้แล้ว อัลลอฮฺจะทรงปิดหัวใจของบรรดาผู้มีเจตนาหลีกเลี่ยงการนมาซวันศุกร์และหัวใจของคนที่พลาดการนมาซวันศุกร์สามครั้งต่อเนื่องกันโดยไม่มีเหตุผลสมควร
ผู้หญิง เด็ก คนเดินทางและคนป่วยไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมนมาซวันศุกร์ การเดินทางในวันศุกร์เป็นที่อนุญาต แต่ผู้เดินทางควรจะเริ่มต้นการเดินทางก่อนเวลาประกาศ(อะซาน)ให้ไปนมาซวันศุกร์ เว้นเสียแต่ว่ามีความจำเป็นจริงๆ ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่ตั้งของมัสญิดจะต้องไปนมาซวันศุกร์ถ้าหากว่ามีความสามารถ แต่ถ้าหากอากาศและสภาพแวดล้อมไม่ดี การนมาซวันศุกร์อาจถูกยกเลิกได้
การไปร่วมนมาซวันศุกร์แต่เนิ่นๆนั้นมีผลบุญอันยิ่งใหญ่เป็นสิ่งตอบแทน กล่าวคือ การออกไปนมาซวันศุกร์แต่เนิ่นๆทำให้คนผู้นั้นได้รับผลบุญตอบแทนในการรอคอยการนมาซ การนั่งรำลึกถึงอัลลอฮ การนมาซสุนัตในระหว่างเวลานั้น อบูอุมามะฮฺได้เล่าว่าท่านนบีได้กล่าวว่า : “ มลาอิก๊ะฮฺจะมานั่งที่หน้าประตูมัสญิดโดยมีแผ่นบันทึกไว้คอยบันทึกคนที่มายังมัสญิด เมื่ออิมามปรากฏตัว แผ่นบันทึกนั้นก็จะถูกม้วน” เมื่ออบูอุมามะฮฺถูกถามว่า “คนที่มาหลังจากอิมามจะยังคงได้นมาซวันศุกร์หรือไม่ ?” เขาตอบว่า “ได้แน่นอน แต่เขาไม่ได้อยู่ในหมู่ผู้ที่ถูกบันทึกไว้เหมือนคนที่มาเร็ว” (อะหมัดและอัฏ-เฏาะบะรอนี)
การปฏิบัติตัวตามแบบอย่างคำสอนของท่านนบีในวันศุกร์
- อาบน้ำทั่วร่างกายก่อนที่จะออกไปยังมัสญิดเหมือนกับการอาบน้ำชำระฮะดัษใหญ่
- แปรงฟันและใช้น้ำหอมอ่อนๆประทินร่างกาย ขลิบหนวด ถอนขนรักแร้ โกนขนใต้ร่มผ้าและตัดเล็บ
- ใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและประณีตเรียบร้อย ท่านนบีได้กล่าวว่า “ถ้าหากเป็นไปได้ เขาก็ควรจะซื้อเสื้อผ้าไว้สองชุดนอกเหนือไปจากชุดทำงานทั้งนี้เพื่อไว้ใส่ในวันศุกร์” (รายงานโดยอบูดาวูด) คำพูดนี้สำหรับผู้ชาย ส่วนผู้หญิงนั้นสามารถไปนมาซวันศุกร์ได้ถ้าหากแต่งตัวปกปิดร่างกายมิดชิดและไม่ใช้นำหอมและการไปมัสญิดจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆติดตามมา
- รำลึกถึงอัลลอฮฺ(ซิกรุลลอฮฺ)ให้มากๆและวิงวอนขอพรทั้งก่อนและหลังการนมาซ
- ทำทานก่อนการนมาซ
ข้อแนะนำทั่วไป
ยังมีสิ่งดีๆอีกบางอย่างที่ควรทำสำหรับคนที่จะไปนมาซวันศุกร์ นั่นคือ หากเดินไปมัสญิดได้ก็ควรเดินเพราะทุกก้าวที่เดินไปมัสญิดนั้นมีผลบุญตอบแทน เมื่อเข้าไปในมัสญิดแล้วก็ไม่ควรเดินข้ามผู้คนไปยังจุดหนึ่งจุดใดเป็นการเฉพาะในมัสญิด ไม่ควรเข้าไปแทรกนั่งระหว่างคนสองคนที่นั่งอยู่ด้วยกัน ไม่ควรใช้วิธีการทำให้คนอื่นยืนขึ้นแล้วตัวเองเข้าไปนั่งแทนที่ ไม่ควรนั่งกอดเข่าในขณะรอการนมาซ ควรจะเข้าไปนั่งแถวหน้าใกล้อิมามหากเป็นไปได้ ขณะที่ฟังการกล่าวคำเทศนาจะต้องไม่พูดหรือทำสิ่งใด ควรจะไปมัสญิดในสภาพที่สงบและไม่เร่งรีบ ควรอ่านกุรอานซูเราะฮอัล-กะฮฺฟี่เพราะมีฮะดีษที่เชื่อถือได้กล่าวว่า : “ใครก็ตามที่อ่านซูเราะฮฺ อัล-ก๊ะฮฟี่ในวันศุกร์ มันจะเป็นแสงสว่างสำหรับเขาจากวันศุกร์นั้นถึงวันศุกร์ถัดไป” (บันทึกโดยอัล-บัยฮะกีและอัล-ฮากิม) จะอ่านในเวลาไหนก็ได้ และถ้าหากรู้สึกง่วง ก็ควรจะลุกขึ้นย้ายไปนั่งที่อื่น
ข้อห้ามพิเศษในวันศุกร์
- ห้ามการซื้อขายหลังจากที่ได้มีการประกาศ(อะซาน)ให้คนมานมาซเป็นที่ต้องห้ามจนกว่าการนมาซจะเสร็จสิ้นแล้ว
- ห้ามการนมาซเพิ่มเติมเมื่ออิมามกำลังเดินไปกล่าวคำเทศนา ถ้าหากใครมานมาซช้าในขณะที่อิมามกำลังกล่าวคุฏบ๊ะฮ ก็ให้นมาซเคารพมัสญิดสองร็อกอัตและนั่งลงหรือไม่ต้องนมาซก็ได้ แต่ที่ดีกว่าก็คือให้นมาซสองร็อกอัต ทั้งนี้เพราะมีฮะดีษของท่านนบีฯกล่าวว่า : “ถ้าหากผู้ใดในหมู่พวกท่านมายังมัสญิด เขาก็ควรนมาซสองร็อกอัตก่อนที่จะนั่งลง” (บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม) อย่างไรก็ตาม การนมาซเคารพมัสญิดไม่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้กล่าวคุฏบ๊ะฮ และการนมาซสองร็อกอัตนี้ก็จำเป็นแต่เฉพาะการนมาซในมัสญิดเท่านั้น
- ห้ามการพูดในขณะที่อิมามกำลังกล่าวคำเทศนาหรือสนใจอยู่กับคำพูดหรือการกระทำใดๆที่เบนความสนใจไปจากการตั้งใจฟังอิมาม
- ห้ามการเดินข้ามคอของคนที่นั่งอยู่ อัต-ติรฺมีซีกล่าวว่าคนมีความรู้ไม่ชอบที่จะให้ใครเดินข้ามคอของผู้คน อับดุลลอฮ อิบนุ บุศร์กล่าวว่า “ชายคนหนึ่งได้เดินข้ามหัวคนในขณะที่ท่านนบีกำลังกล่าวคุฎบ๊ะฮวันศุกร์ ท่านจึงได้บอกให้คนผู้นั้นว่า ‘นั่งลง ท่านกำลังทำให้คนเดือดร้อนและท่านมาสาย’ ”
- ห้ามการจัดนมาซวันศุกร์ในสองมัสญิดในท้องถิ่นเดียวกันโดยไม่จำเป็น เมื่อการนมาซวันศุกร์ได้ถูกจัดให้มีขึ้นในท้องถิ่นใดเป็นที่ถูกต้องตามเงื่อนไขแล้ว การนมาซในท้องถิ่นอื่นก็ใช้ไม่ได้ยกเว้นในท้องถิ่นใหญ่ที่มัสญิดเพียงหนึ่งแห่งไม่เพียงพอสำหรับผู้คนในท้องถิ่นนั้น