แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประวัติศาสตร์อิสลาม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ ประวัติศาสตร์อิสลาม แสดงบทความทั้งหมด

ระหว่างคับแคบกับไร้ขอบเขต

ระหว่างคับแคบกับไร้ขอบเขต
บรรจง บินกาซัน
แม้ศาสนาเกิดขึ้นมาในอดีตและคำสอนของศาสนายังคงอยู่มาถึงปัจจุบันและต้องอยู่ตลอดไปจนถึงวันสิ้นโลก แต่คำสอนของศาสนาไม่ได้ล้าสมัย ความเข้าใจและการปฏิบัติของศาสนิกผู้นับถือศาสนานั้นๆต่างหากที่ทำให้คนเข้าใจว่าศาสนาเป็นสิ่งล้าสมัย ไปกับปัจจุบันไม่ได้
หลายสิบปีก่อน ผมมีโอกาสพูดคุยกับชาวอาฟกันคนหนึ่งในตอนเหนือของปากีสถานระหว่างสำรวจเส้นทางท่องเที่ยว เขาบอกว่าเขาอยากมาเมืองไทย แต่มีอุปสรรคบางอย่าง นั่นคือเขาไม่สามารถทำหนังสือเดินทางได้ เพราะเขาต้องถ่ายรูปซึ่งศาสนาอิสลามห้าม
เขายังอ้างอีกว่าแผ่นดินบนโลกใบนี้เป็นของพระเจ้า คนในอดีตไปไหนมาไหนได้ทั่วโลกโดยไม่ต้องมีหนังสือเดินทาง แต่เดี๋ยวนี้ทำไมต้องมีหนังสือเดินทาง
ผมไม่โต้เถียงอะไรทั้งสิ้น เพราะเรื่องความเชื่อทางศาสนากับการเมือง ถ้ามันฝังอยู่ในใจคนแล้ว ยากที่จะขุด จึงได้แต่คิดอยู่ในใจว่าถ้าคิดอย่างนี้ก็อยู่ตรงนั้นไปเถิด อย่าได้ไปเห็นแผ่นดินอื่นๆที่พระเจ้าได้สร้างไว้อย่างสวยงามเลย
ถามว่าในคำสอนของอิสลามมีข้อห้ามเรื่องทำรูปที่เป็นทั้งรูปวาดและรูปปั้นไหม คำตอบคือมี ไม่ใช่เฉพาะอิสลามเท่านั้น ข้อห้ามทำรูปโดยเฉพาะรูปปั้นก็มีอยู่ในคัมภีร์ไบเบิล
เหตุผลที่อยู่เบื้องหลังข้อห้ามก็เพราะศาสนากลัวว่าเมื่อมนุษย์วาดภาพหรือทำรูปปั้นขึ้นมาแล้ว มนุษย์จะให้ความสำคัญแก่รูปวาดและรูปปั้นที่มนุษย์ทำขึ้นมาจนถึงกับบูชาสักการะรูปเหล่านั้นควบคู่ไปกับพระเจ้าหรือแทนพระเจ้าซึ่งถือเป็นบาปใหญ่ที่สุดในศาสนาที่ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว
การวาดภาพหรือปั้นรูปสิ่งที่มองไม่เห็นบางอย่างเช่นทูตสวรรค์เกิดขึ้นมานานก่อนหน้าสมัยอิสลาม ในโบสถ์ฮาเกียโซเฟีย ประเทศตุรกี มีภาพวาดพระนางมารีย์และพระเยซูในตอนเกิดอยู่บนผนัง ข้างบนโดมภายในตรงกลางมีภาพวาดทูตสวรรค์อยู่
ชาวอาหรับเคยนำรูปเคารพนับร้อยมาตั้งไว้รอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺเพื่อการบูชาสักการะ ไม่เพียงเท่านั้น บนผนังก๊ะอฺบ๊ะฮฺ ชาวอาหรับยังวาดรูปนบีอิบรอฮีมและอิสมาอีลถือธนูเสี่ยงทายไว้อีกด้วย เมื่อนบีมุฮัมมัดพิชิตมักก๊ะฮฺ ท่านได้สั่งให้ลบรูปวาดนั้นและบอกผู้คนว่าชาวอาหรับรู้ดีว่านบีอิบรอฮีมและลูกชายของท่านไม่เคยทำเช่นนั้น และสั่งให้ทำลายรูปวาดและรูปเคารพทั้งหมด
หลังจากนั้น ท่านได้ออกคำสั่งห้ามมุสลิมวาดรูปและทำรูปปั้น นับแต่นั้น มุสลิมจึงไม่มีรูปภาพหรือรูปปั้นพระเจ้าไว้สักการะ อย่าว่าแต่รูปพระเจ้าเลย แม้แต่รูปนบีมุฮัมมัดก็ยังไม่มี
อย่างไรก็ตาม หลังสมัยนบีมุฮัมมัด เมื่อโลกอิสลามเจริญรุ่งเรือง นักวิชาการมุสลิมบางคน เช่น อิบนุสินา ที่โลกตะวันตกตกยกย่องเป็นบิดาทางการแพทย์ได้วาดภาพกายวิภาคของมนุษย์และสัตว์เพื่ออธิบายถึงตำแหน่งและการทำงานของอวัยวะต่างๆซึ่งจำเป็นสำหรับการถ่ายทอดความรู้ ถ้าอิบนุสินาตีความคำสอนเรื่องห้ามวาดรูปอย่างเถรตรง เขาคงไม่สามารถทำตำราถ่ายทอดวิชาการแพทย์ให้ชาวตะวันตกนำไปใช้เรียนจนเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติจนถึงทุกวันนี้ได้
ถ้าห้ามเรียนวาดภาพ เราก็คงเสียประโยชน์จากการมีคนสเก็ตภาพคนร้ายเพื่อตามจับอาชญากร ไม่มีคนวาดภาพเพื่อถ่ายทอดการแต่งกายและวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้กัน
ยิ่งในปัจจุบันที่มีกล้องถ่ายรูปและกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหว ถ้าตีความคำสั่งห้ามการทำรูปตามตัวอักษร การถ่ายรูปหรือการถ่ายภาพยนตร์ก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน
เมื่อโลกตะวันตกฉีกตัวออกจากศาสนาและเจริญก้าวหน้าหลังยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ ศิลปะการวาดภาพในโลกตะวันตกก็เริ่มไม่มีขอบเขตจำกัดทางศีลธรรม ภาพวาดและภาพปั้นหญิงเปลือยกายในท่าทางต่างๆถูกทำขึ้นมาเผยแพร่ในที่สาธารณะ สถาบันการศึกษาถือคติตามฝรั่งว่ามนุษย์เป็นสิ่งที่สวยงามที่สุดในบรรดาสิ่งถูกสร้างของพระเจ้า ดังนั้น การวาดภาพผู้หญิงเปลือยกายจึงถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนศิลปะวาดภาพ และกิจกรรมการประกวดเรือนร่างของผู้หญิงถูกจัดขึ้นมาในรูปแบบต่างๆจนเป็นที่แพร่หลาย
การตีความคำสอนของศาสนาด้วยความคิดอันคับแคบของหนุ่มชาวอาฟกันอาจทำให้เขาลำบากในการปรับตัวเข้ากับความเจริญของโลกยุคปัจจุบัน แต่การวาดภาพหรือการทำรูปปั้นของชาวตะวันตกอย่างไม่มีขอบเขตทางศีลธรรมนั้นสร้างความเสียหายให้แก่มนุษย์ในโลกที่กำลังเจริญทางวัตถุอย่างมากมายหลายพันเท่า
อิสลามอยู่ตรงกลางระหว่างสองขั้วนี้ คือไม่คับแคบ แต่ก็ไม่เปิดกว้างจนไร้ขอบเขต
Share:

ประวัติศาสตร์อิสลามครั้งที่01(พื้นฐานประวัติศาสตร์อิสลาม)


พื้นฐานประวัติศาสตร์อิสลามเทป01
บันทึกวันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน 2554

โดย อ.บรรจง บินกาซัน รร.รีเจนท์ รามคำแหง

จุดประสงค์เพื่อเผยแพ่อิสลามในแง่มุมด้านประวัติศาสตร์อิสลาม นับตั้งแต่ก่อนมนุษย์ลงมาบนโลกใบนี้ ไปจนถึงยุคสุดท้ายคือยุคนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เนื้อหาโดยย่อ…
ประวัติศาสตร์คือการสืบค้นเรื่องราวในอดีตจากเอกสารหรือวัตถุ ภาษาอาหรับใช้คำทั่วไปว่า تَاريخ คัมภีร์กุรอานใช้คำว่า اَيام الله “วันของอัลลอฮฺ” เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่มีช่วงเวลายาวกว่าประวัติศาสตร์ในความหมายทั่วไป คัมภีร์ คือ วจนะของอัลลอฮฺที่มีมายังมนุษยชาติผ่านทางบรรดานบีและถูกบันทึกไว้เป็นรูปเล่ม คัมภีร์เตารอต (Torah) ถูกประทานแก่นบีมูซา (โมเสส) คัมภีร์ษะบูรฺ (Psalms) ถูกประทานแก่นบีดาวูด (ดาวิด) คัมภีร์อินญีล (Gospels) ถูกประทานแก่นบีอีซา (พระเยซู) คัมภีร์กุรอาน (Quran) ถูกประทานแก่นบีมุฮัมมัดในช่วงเวลา 23 ปี แห่งการเป็นศาสนทูต

สาระของคัมภีร์กุรอานประกอบด้วย 1. เรื่องความศรัทธาในสิ่งเร้นลับ เช่น พระเจ้า นรก สวรรค์ 2. เรื่องสิ่งอนุมัติ(ฮะลาล)และสิ่งต้องห้าม(ฮะรอม) 3. เรื่องข้อกฎหมายที่ชัดเจน 4. เรื่องที่ยังสามารถอธิบายและให้ความเห็นได้ 5. เรื่องข่าวดีสำหรับคนทำดีและข่าวร้ายสำหรับคนทำชั่ว 6. เรื่องประวัติศาสตร์ 7. การตักเตือนมนุษย์ 8. ข้อเปรียบเทียบและอุทาหรณ์
ประวัติศาสตร์อิสลามสามารถแบ่งออกเป็นช่วงๆได้ดังนี้ 1. ประวัติศาสตร์ของบรรดานบีก่อนหน้าท่านนบีมุฮัมมัด 2. ประวัติศาสตร์ของท่านนบีมุฮัมมัด 3. ประวัติศาสตร์ของเคาะลีฟะฮฺผู้ได้รับทางนำทั้งสี่ 4. ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ต่างๆหลังสมัยเคาะลีฟะฮฺ
บทบาทและความสำคัญของประวัติศาสตร์ในอิสลาม 1. ถูกนำมาใช้เพื่อเรียกร้องสู่การศรัทธาในอัลลอฮฺ 2. เป็นสัญญาณ (อายะฮฺ) ของอัลลอฮฺและสิ่งมหัศจรรย์ของนบี 3. เป็นบทเรียนสำหรับเตือนมนุษยชาติ 4. การศึกษาอิสลามคือการศึกษาประวัติศาสตร์ของบรรดานบี
ประเด็นศึกษา 1. ภูมิหลังของการประทานอายะฮฺกุรอาน 2. บทเรียนและข้อคิดที่ได้จากประวัติศาสตร์
Share:

ที่มาของฮิจญ์เราะฮฺศักราช

ที่มาของฮิจญ์เราะฮฺศักราช
บรรจง บินกาซัน

วันนี้ 22 กันยายน พ.ศ.2560 ตรงกับวันที่ 1 เดือนมุฮัรฺร็อม ฮ.ศ.1439 วันปีใหม่ตามปฏิทินอิสลาม แต่มุสลิมทั่วโลกผ่านวันขึ้นปีใหม่ของตนไปโดยมิได้มีการจัดงานเคานต์ดาวหรือจุดพลุเฉลิมฉลองแต่ประการใด เพราะมุสลิมถือว่าวันที่ 1 ของทุกเดือนในรอบปีเป็นเพียงวันที่บอกว่าเวลาของเราได้หมดไปอีกหนึ่งเดือนแล้วเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ชาวมุสลิมมีวันสำคัญที่จะเฉลิมฉลองกันในบางเดือนของทุกปี นั่นคือ วันอีดุลฟิฏร์ซึ่งเป็นวันเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน(เดือนที่ 9)และวันอีดุลอัฎฮาซึ่งเป็นวันแห่งการทำพิธีฮัจญ์ของมุสลิมทั่วโลกในเดือนซุลฮิจญะฮฺ เดือนสุดท้ายของปี
ในคัมภีร์กุรอาน 9: 36 ระบุว่า “จำนวนเดือนที่อัลลอฮฺได้ทรงกำหนดไว้นั้นมีสิบสองเดือนตั้งแต่เมื่อตอนที่พระองค์ได้ทรงสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน และในจำนวนนี้มีสี่เดือนต้องห้าม นี่คือหลักในการนับที่ถูกต้อง......”
ดังนั้น มนุษย์จึงแบ่งเวลาหนึ่งปีออกเป็นสิบสองเดือนมาตั้งแต่อดีตกาลแล้ว แต่การแบ่งเดือนในแต่ละปีมีวิธีต่างกัน ระบบสุริยคติใช้การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์เป็นเกณฑ์กำหนดหนึ่งปี ส่วนระบบจันทรคติใช้การโคจรของดวงจันทร์รอบโลกนับเป็นหนึ่งเดือนและนับไป 12 เดือนเป็นหนึ่งปี เดือนส่วนใหญ่ในปฏิทินจันทรคติจะมี 29 วัน ดังนั้น วันในปฏิทินจันทรคติจะมี 354 วันเศษๆซึ่งน้อยกว่าปฏิทินสุริยคติ 10 -11 วัน
ความแตกต่างอีกอย่างหนึ่งระหว่างปฏิทินสุริยคติกับปฏิทินจันทรคติก็คือ ปฏิทินในระบบสุริยคติเริ่มต้นวันใหม่หลังเที่ยงคืน แต่ปฏิทินระบบจันทรคติของอิสลามเริ่มต้นวันใหม่เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
คัมภีร์กุรอานยังกล่าวอีกว่าในจำนวน 12 เดือนนี้มีเดือนต้องห้ามอยู่สี่เดือน นั่นคือเดือนที่ 1, 7, 11 และ 12 ในสังคมชาวอาหรับก่อนสมัยอิสลามได้กำหนดประเพณีไว้อย่างหนึ่งว่าในเดือนดังกล่าวห้ามทุกเผ่าทำสงคราม ทั้งนี้เพราะเดือนที่ 12 (เดือนซุลฮิจญะฮฺ) ของทุกปีเป็นเดือนแห่งการทำพิธีฮัจญ์ เดือนที่ 11 (เดือนซุลเกาะด๊ะฮฺ) เป็นเดือนแห่งการเดินทางมาและเดือนที่ 1 (เดือนมุฮัรฺร็อม)เป็นเดือนแห่งการเดินทางกลับ ดังนั้น ชาวอาหรับทุกคนต้องให้เกียรติแก่ผู้เดินทางมาทำพิธีฮัจญ์ และที่สำคัญก็คือความปลอดภัยในช่วงเดือนต้องห้ามจะทำให้ชาวอาหรับทุกเผ่าต่างได้รับผลประโยชน์จากการทำการค้า
แม้สังคมชาวอาหรับสมัยก่อนหน้าอิสลามมีการกำหนดวันและเดือนต่างๆแล้วก็ตาม แต่ชาวอาหรับก็ยังไม่มีปฏิทินที่บอกว่าเป็นศักราชที่เท่าใด การนับปีจะอ้างอิงเหตุการณ์สำคัญๆที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น นบีมุฮัมมัดเกิดในวันจันทร์ เดือนเราะบีอุลเอาวัล ปีช้าง ทั้งนี้เนื่องจากในปีที่นบีมุฮัมมัดถือกำเนิดเป็นปีที่มีกองทัพช้างจากเยเมนได้บุกเข้ามายังมักก๊ะฮฺ ชาวอาหรับจึงถือว่าปีนั้นเป็นปีเกิดเหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ในความทรงจำของพวกตน

เมื่อนบีมุฮัมมัดอพยพจากมักก๊ะฮฺไปที่มะดีนะฮฺใน ค.ศ.622 ท่านพบว่าชาวบนีอิสรออีลที่นั่นถือศีลอดในวันที่ 10 เดือนมุฮัรฺร็อม (วันอาชูรอ) ท่านจึงได้ถามคนกลุ่มนี้ถึงเหตุผลในการถือศีลอดในวันนั้น ชาวบนีอิสรออีลตอบท่านว่า “มันเป็นวันดีวันหนึ่ง” (วันที่โมเสสช่วยชาวยิวให้รอดพ้นจากฟาโรห์)นบีมุฮัมมัดจึงบอกชาวยิวว่า “เราใกล้ชิดโมเสสมากกว่าพวกท่านเสียอีก”
ในเวลานั้น คำบัญชาเรื่องการถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนยังไม่ได้ถูกประทานมา นบีมุฮัมมัดได้ถือศีลอดในวันนั้นตามชาวบนีอิสรออีลและท่านได้สั่งมุสลิมในมะดีนะฮฺให้ถือศีลอดตามแบบชาวบนีอิสรออีล เพราะท่านถือว่าโมเสสเป็นนบีของพระเจ้า ท่านจึงปฏิบัติตาม
ในปีถัดมา นบีมุฮัมมัดได้รับคำบัญชาให้ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอน การถือศีลอดในวันที่ 10 เดือนมุฮัรฺร็อมจึงเป็นสิ่งที่มุสลิมสามารถเลือกปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ได้ตามความสมัครใจ ไม่ใช่ข้อบังคับเหมือนกับการถือศีลอดในเดือนเราะฎอน
ในสมัยของนบีมุฮัมมัด มุสลิมยังไม่มีศักราชของตนเอง หลังสมัยนบีมุฮัมมัด ใน ค.ศ.638 ซึ่งเป็นสมัยการปกครองของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อาณาเขตของรัฐอิสลามขยายกว้างออกไป อบูมูซา อัชอะรีย์ เจ้าหน้าที่ปกครองของอุมัรฺในเมืองบัศเราะฮฺในประเทศอิรักได้ร้องเรียนว่าจดหมายที่เขาได้รับจากอุมัรฺไม่ได้ระบุปีไว้ ทำให้เขาไม่อาจจำได้ว่าจดหมายฉบับใดเป็นฉบับล่าสุด ดังนั้น เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺจึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่มุสลิมต้องมีการกำหนดศักราชของตนเอง
หลังจากปรึกษาหารือกับผู้อาวุโส อุมัรฺก็ตัดสินใจว่าศักราชของอิสลามควรเริ่มต้นตั้งแต่ปีที่นบีมุฮัมมัดอพยพมาถึงเมืองมะดีนะฮฺ อุษมาน บินอัฟฟาน สาวกผู้อาวุโสคนหนึ่งแนะนำว่าปฏิทินอิสลามควรเริ่มต้นด้วยเดือนมุฮัรฺร็อมตามประเพณีของชาวอาหรับแม้ในความเป็นจริงแล้ว นบีมุฮัมมัดอพยพมาถึงเมืองมะดีนะฮฺในเดือนถัดจากนั้นก็ตาม นับแต่นั้นมา ศักราชของอิสลามจึงเริ่มต้นและถูกเรียกว่า “ฮิจญ์เราะฮฺศักราช” เพราะฮิจญ์เราะฮฺหมายถึงการอพยพ
แม้มุสลิมทั่วโลกไม่เฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินฮิจญ์เราะฮฺศักราช แต่ในวันที่ 9 และ 10 ของเดือนมุฮัรฺร็อม ประชาคมมุสลิมซุนนีส่วนใหญ่จะมีประเพณีปฏิบัติร่วมกันอย่างหนึ่ง นั่นคือการถือศีลอดด้วยความสมัครใจ บางชุมชนเชื่อว่าวันที่ 10 เดือนมุฮัรฺร็อมเป็นวันที่เรือของโนอาห์(นบีนูฮฺ)ได้เกยตื้นบนภูเขาญูดีและโนอาห์ได้เอาเมล็ดธัญพืชทั้งหมดที่เหลืออยู่ในเรือมากวนเป็นอาหารแจกผู้ที่เหลือรอดชีวิต จึงได้จัดประเพณีกวนเมล็ดธัญพืชที่เรียกว่า “บูโบอาชูรอ” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว
ส่วนชุมชนชาวชีอะฮ์จะจัดพิธีอาลัยอาวรณ์ถึงการจากไปของอิมามฮุเซนหลานของนบีมุฮัมมัด
Share:

ก๊ะอฺบ๊ะฮฺ : ศูนย์กลางของประชาชาติอิสลาม

ก๊ะอฺบ๊ะฮฺ : ศูนย์กลางของประชาชาติอิสลาม

การทำฮัจญ์ที่นครมักก๊ะฮฺเป็นศาสนกิจสำคัญหนึ่งใน 5 ประการที่อิสลามกำหนดให้มุสลิมที่มีความสามารถทางด้านการเงินและสุขภาพต้องปฏิบัติอย่างน้อยที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต เมื่อเดินทางไปถึงนครมักก๊ะฮฺ  สถานที่แห่งแรกที่ผู้ไปทำฮัจญ์ทุกคนจะต้องไปประกอบพิธีก่อนก็คือก๊ะอฺบ๊ะฮฺ
ก๊ะอฺบ๊ะฮฺคืออาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมในใจกลางนครมักก๊ะฮฺประเทศซาอุดิอารเบีย อาคารแห่งนี้เป็นสถานที่ที่มุสลิมทั่วโลกจะหันไปในเวลานมาซนับตั้งแต่สมัยของท่านนบีมุฮัมมัดตั้งแต่เมื่อประมาณ 1,400 ปีก่อน
ขนาดของก๊ะอฺบ๊ะฮฺ
ก๊ะอฺบ๊ะฮฺในปัจจุบันมีขนาดสูงประมาณ 12 เมตร ความกว้างและความยาวประมาณ 10 เมตร  เพดานภายในและหลังคาทำด้วยไม้สองระดับ ผนังกำแพงทำจากหินธรรมชาติโดยที่ภายในไม่มีการขัด แต่ภายนอกจะมีการขัดให้เป็นเงา
ตามคำบอกเล่าที่สืบทอดต่อกันมา อาคารเล็กๆหลังนี้ถูกสร้างขึ้นมาครั้งแรกโดยนบีอาดัม  แต่จากหลักฐานในคัมภีร์กุรอาน ก๊ะอฺบ๊ะฮฺถูกสร้างขึ้นโดยนบีอิบรอฮีมกับนบีอิสมาอีล ลูกชายของท่าน และหลังจากนั้นก็มีการบูรณะอีกครั้งหนึ่งในสมัยของนบีมุฮัมมัด ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าก๊ะอฺบ๊ะฮฺเป็นศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
ชื่อของก๊ะอฺบ๊ะฮฺ
ถึงแม้ก๊ะอฺบ๊ะฮฺในภาษาอาหรับจะหมายถึงสถานที่อันเป็นที่เคารพและมีเกียรติ แต่คำว่าก๊ะอฺบ๊ะฮฺมาจากคำที่มีความหมายว่าปริมาตรทรงสี่เหลี่ยม นอกจากนี้แล้ว ก๊ะอฺบ๊ะฮฺยังมีชื่ออื่นๆอีกเช่น
  • บัยตุลอะตี๊ก ซึ่งมีความหมายอย่างหนึ่งว่าบ้านเก่าแก่และโบราณ ความหมายที่สองหมายถึงเป็นอิสระและการปลดปล่อย
  • บัยตุลฮะรอม หรือ บ้านอันเป็นที่ต้องห้าม
ประวัติของก๊ะอฺบ๊ะฮฺ
ก๊ะอฺบ๊ะฮฺได้รับความเสียหายทั้งจากภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างเช่นน้ำท่วมและโดยการทำลายของมนุษย์ ดังนั้น จึงได้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้งด้วยกัน
จากการศึกษาของนักประวัติศาสตร์และโบราณคดีพบว่ารากฐานของก๊ะอฺบ๊ะฮฺที่นบีอิบรอฮีมวางไว้ครั้งแรกนั้นเป็นดังนี้ :-
กำแพงด้านตะวันออกมีขนาด 48 ฟุต 6 นิ้ว
กำแพงด้านที่เรียกว่าฮะตีมมีขนาด 33 ฟุต
ด้านระหว่างหินดำและมุมยะมานีมีขนาด 30 ฟุต
ด้านตะวันตกมีขนาด 46.5 ฟุต
หลังจากนั้นก็มีการก่อสร้างซ่อมแซมอีกหลายครั้งก่อนจะมาถึงสมัยของนบีมุฮัมมัด
จากหลักฐานในคัมภีร์กุรอาน เดิมที นบีอิบรอฮีมได้สร้างอาคารหลังนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นที่นมาซสักการะอัลลอฮฺพระเจ้าองค์เดียว  แต่หลังจากสมัยของท่าน  ชาวอาหรับเผ่าต่างๆก็ได้หลงผิดนำเอารูปปั้นบูชาและเทวรูปของตนมาตั้งไว้ทั้งข้างในและรายรอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺเป็นจำนวนถึง 360 องค์ด้วยกัน และในทุกปี ชาวอาหรับทั่วอารเบียก็จะเดินทางมาแสวงบุญ(ทำฮัจญ์)ยังสถานที่แห่งนี้  ด้วยเหตุนี้ ก๊ะฮฺบ๊ะฮฺจึงทำให้นครมักก๊ะฮฺกลายเป็นศูนย์กลางทางด้านศาสนาและเศรษฐกิจขึ้นมากลางทะเลทรายที่แห้งแล้ง
ในสมัยก่อนหน้าอิสลาม ชาวอาหรับแต่ละเผ่าจะทำฮัจญ์ด้วยการเวียนรอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺและสักการบูชาเทวรูปของตนแทนอัลลอฮฺ  บางเผ่าเปลือยกาย บางเผ่าก็จะปรบมือหรือผิวปากในขณะเวียนรอบ หลังจากนั้นก็จะเชือดสัตว์และเอาเลือดสาดไปบนกำแพงก๊ะอฺบ๊ะฮฺ ส่วนเนื้อของสัตว์ที่ถูกเชือดก็จะแจกจ่ายไปเป็นทานแก่คนยากจน
แผนการทำลายก๊ะอฺบ๊ะฮฺ
            ประมาณปี ค.ศ.570 ซึ่งเป็นปีเกิดของท่านนบีมุฮัมมัด  อับรอฮะเจ้าเมืองเยเมนเล็งเห็นความสำคัญของก๊ะอฺบ๊ะฮฺที่สร้างความมั่งคั่งให้มักก๊ะฮฺ  เขาจึงสร้างวิหารศาสนาขนาดใหญ่และสวยงามกว่าขึ้นมาแข่งกับก๊ะอฺบ๊ะฮฺ  หลังจากนั้น เขาก็ส่งคนออกไปเรียกร้องให้ชาวอาหรับเดินทางมาแสวงบุญที่นั่น  แต่ไม่ประสบความสำเร็จ  ดังนั้น เขาจึงยกทัพใหญ่มุ่งหน้ามายังมักก๊ะฮฺเพื่อทำลายก๊ะอฺบ๊ะฮฺ  คัมภีร์กุรอานกล่าวไว้ว่าก่อนที่เขาจะเข้าถึงอาคารก๊ะอฺบ๊ะฮฺ ปรากฏว่าได้มีนกฝูงใหญ่คาบหินไฟนรกมาโปรยใส่กองทัพของเขา ทหารคนใดที่ถูกหินเหล่านี้ เนื้อหนังจะมีสภาพเหมือนใบไม้ที่ถูกหนอนกัดกินและล้มตายลง  ดังนั้น แผนการทำลายก๊ะอฺบ๊ะฮฺของเจ้าเมืองเยเมนจึงประสบความล้มเหลวและต้องถอยทัพกลับไป  เนื่องจากในการยกทัพมาครั้งนั้น เจ้าเมืองเยเมนได้นำช้างร่วมทัพมาด้วย ชาวอาหรับจึงเรียกปีนั้นว่าปีช้าง
การบูรณปฏิสังขรณ์ก๊ะอฺบ๊ะฮฺโดยพวกกุเรช
ก่อนที่ท่านนบีมุฮัมมัดจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนทูตเพื่อนำคำสอนของพระเจ้ามาเผยแผ่ยังมนุษย์ชาติ ก๊ะอบ๊ะฮฺได้รับความเสียหายและกำแพงแตก ชาวอาหรับเผ่ากุเรชจึงได้ริเริ่มการปฏิสังขรณ์ก๊ะอฺบ๊ะฮฺโดยแบ่งความรับผิดชอบให้ตระกูลสำคัญๆในเผ่าของตนและนบีมุฮัมมัดก็ได้มีส่วนร่วมในการปฏิสังขรณ์ครั้งนั้นด้วย
เมื่อกำแพงถูกสร้างเสร็จแล้วก็ถึงเวลาที่จะติดตั้งหินดำบนกำแพงฝั่งตะวันออกของก๊ะอฺบ๊ะฮฺ แต่พอมาถึงตรงนี้ก็มีการโต้แย้งกันว่าใครจะเป็นผู้มีเกียรตินำหินดำไปติดตั้งไว้ยังสถานที่ของมัน การโต้เถียงได้กลายเป็นความขัดแย้งและทวีความรุนแรงจนเกือบจะเป็นการต่อสู้กัน ในที่สุด อบูอุมัยยะฮฺ ผู้อาวุโสที่สุดของมักก๊ะฮฺก็เสนอว่าเพื่อเป็นการยุติความขัดแย้งดังกล่าว ควรที่จะให้ผู้ที่เข้ามายังบริเวณศาสนสถานแห่งนี้เป็นคนแรกในเช้าวันรุ่งขึ้นเป็นผู้ตัดสิน
วันรุ่งขึ้น ผู้ที่เข้ามายังเขตที่ตั้งของก๊ะอฺบ๊ะฮฺเป็นคนแรกก็คือผู้ที่ชาวมักก๊ะฮฺตั้งฉายาให้ว่า “อัล-อะมีน” (ผู้ซื่อสัตย์ไว้วางใจได้) นั่นคือท่านนบีมุฮัมมัด ดังนั้น ทุกคนจึงขอให้ท่านตัดสินเรื่องที่กำลังมีความขัดแย้งกันอยู่  ท่านนบีได้เสนอทางแก้ปัญหาที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันหมด นั่นคือ ท่านได้เอาหินดำวางลงบนเสื้อคลุมของท่านและเชิญผู้อาวุโสในเผ่ากุเรชจากทุกตระกูลมาจับชายผ้าและยกหินขึ้นพร้อมๆกัน หลังจากนั้น ท่านก็หยิบหินดำขึ้นแล้วนำไปติดตั้งไว้ยังที่เดิม เรื่องจึงจบลงด้วยดีโดยที่ทุกฝ่ายต่างมีส่วนร่วมด้วยกันอย่างมีเกียรติ
หินดำคือหินเม็ดเล็กๆที่ถูกบรรจุไว้ในกรอบและติดตั้งไว้ตรงมุมหนึ่งของก๊ะอฺบ๊ะฮฺเพื่อแสดงถึงจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดการเวียนรอบก๊ะอฺบ๊ะฮฺ 7 รอบ ไม่ได้เป็นหินศักดิ์สิทธิ์ที่คนทั่วไปเข้าใจว่ามุสลิมกราบไหว้บูชาหรือสักการะ
เนื่องจากเผ่ากุเรชมีทุนไม่พอ การบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งนั้นจึงไม่สามารถครอบคลุมรากฐานทั้งหมดของก๊ะอฺบ๊ะฮฺตามที่นบีอิบรอฮีมได้สร้างไว้  นี่เป็นครั้งแรกที่ทำให้ก๊ะอฺบ๊ะฮฺกลายเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัสมาจนถึงปัจจุบันทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ก๊ะอฺบ๊ะฮฺมีรูปทรงเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า  ส่วนของก๊ะอฺบ๊ะฮฺที่ถูกทิ้งไปนั้นเรียกว่า “อัล-ฮะตีม” หรือ “ อัล-ฮิจญร์” (ฮะตีมเป็นพื้นที่ติดกับก๊ะอฺบ๊ะฮฺซึ่งถูกล้อมโดยกำแพงครึ่งวงกลม)
หลังสมัยของท่านนบีมุฮัมมัด ก๊ะอฺบ๊ะฮฺได้รับความเสียหายจากสาเหตุต่างๆ จึงได้มีการซ่อมแซมและก่อสร้างเพิ่มเติมอีกหลายครั้งโดยผู้ปกครองรัฐอิสลามในยุคต่างๆจนกระทั่งมีลักษณะดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน
มีอะไรอยู่ในก๊ะอบ๊ะฮ ?
ดร. มุซัมมิล ซิดดีกี ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้มีโอกาสเข้าไปข้างในก๊ะอฺบ๊ะฮฺในเดือนตุลาคม ค.ศ.1998 ได้บอกว่าข้างในนั้น :-
  • มีเสาสองต้นอยู่ข้างใน
  • มีโต๊ะอยู่หนึ่งตัวด้านข้างสำหรับวางสิ่งของเช่นเครื่องหอม
  • มีตะเกียงแบบโคมแขวนลงมาจากเพดาน
  • บริเวณข้างในสามารถจุคนได้ประมาณ 50 คน
  • ไม่มีไฟฟ้าข้างใน
  • กำแพงและพื้นเป็นหินอ่อน
  • ไม่มีหน้าต่างข้างใน
  • มีประตูอยู่บานเดียว
บทความโดย
Share:

ศาสนา : รากฐานของอารยธรรม

ศาสนา รากฐานของอารยธรรม

คนยุคใหม่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะปัญญาชนคนหัวก้าวหน้ามักจะมองว่าศาสนาคือสิ่งล้าสมัยและไม่มีความจำเป็นสำหรับมนุษย์อีกต่อไปแล้ว เพราะปัจจุบัน วิทยาศาสตร์สามารถจัดเตรียมทุกสิ่งที่มนุษย์ต้องการได้หมดทุกอย่าง และด้วยความเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์ นักวัตถุนิยมทั้งหลายจึงไม่เพียงแต่จะปฏิเสธศาสนาเท่านั้น แต่ยังพยายามที่จะท้าทายทำลายศาสนาเพื่อสถาปนาวิทยาศาสตร์ที่พวกเขาเชื่อมั่นให้กลายเป็นศาสนาสำหรับโลกยุคใหม่ด้วย
ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักวิทยาศาสตร์  ศาสนาได้มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์มาโดยตลอดเพราะคำสอนทางศาสนาคือกฎหมายในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ซึ่งทำหน้าที่จัดระเบียบทางสังคมให้แก่มนุษย์ นอกจากนี้แล้ว คำสอนของศาสนายังเป็นแหล่งความรู้และรากฐานแห่งอารยธรรมของมนุษย์มาโดยตลอด
แต่คำสอนของศาสนาเริ่มถูกท้าทายในยุคกลางเมื่อคริสตจักรเรืองอำนาจ  พระสันตปาปาหรือโป๊ปคือผู้มีอำนาจสูงสุดจากการอ้างเทวสิทธิ์ในการปกครองอาณาจักรทางโลก  โป๊ปมีอำนาจถึงขนาดที่สามารถแต่งตั้งและถอดถอนกษัตริย์คนใดก็ได้ในยุโรป  คำสั่งของโป๊ปจึงเหมือนกับประกาศิตและคำสอนของบาทหลวงในคริสตจักรจึงเหมือนกับสัจธรรมศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจล่วงละเมิดได้  ใครที่มีความคิดขัดกับคำสอนของคริสตจักรก็มีโทษเหมือนกับกบฏต่อศาสนาและโทษทัณฑ์ของการท้าทายคำสอนของบาทหลวงแห่งคริสตจักรก็คือการถูกลงโทษอย่างแสนสาหัสหรือไม่ก็ถูกประหารชีวิตหากไม่สารภาพผิดและเปลี่ยนความคิดของตัวเองเสียใหม่ให้สอดคล้องกับคริสตจักร
ดังนั้น เมื่อนักวิทยาศาสตร์อย่างนิโคลัส โคเปอร์นิคัส (ค.ศ.1473-1543) และกาลิเลโอ กาเลอี (ค.ศ.1564-1642) เกิดขึ้นมาท่ามกลางอำนาจของคริสตจักร  ความจริงทางปรากฏการณ์ทางธรรมชาติหรือที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์ที่พวกเขาค้นพบได้ขัดแย้งกับความคิดและคำสอนของบาทหลวงแห่งคริสตจักรอย่างรุนแรง  ในขณะที่คริสตจักรเชื่อว่าโลกคือศูนย์กลางของสุริยจักรวาล แต่กาลิเลโอและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เชื่อมั่นและยืนยันจากการศึกษาค้นคว้าว่าดวงอาทิตย์ต่างหากคือศูนย์กลางของสุริยจักรวาล และเมื่อนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ยืนยันความเชื่อของตน นักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ได้ถูกคริสตจักรได้ประณามว่าเป็นคนนอกศาสนาและถูกศาลศาสนาลงโทษด้วยการทรมานอย่างแสนสาหัสจนถึงกับชีวิตเมื่อไม่ยอมเปลี่ยนแปลงความจริงทางวิทยาศาสตร์ให้สอดคล้องกับคำสอนของคริสตจักร  นี่คือสภาพของโลกในยุคกลางก่อนที่ดวงดาวแห่งนักวิทยาศาสตร์จะจุติขึ้นมาบนฟากฟ้าของโลกยุคใหม่
เมื่อคนรุ่นใหม่ทนสภาพอำนาจบาตรใหญ่ของคริสตจักรไม่ได้ มาร์ติน ลูเธอร์ นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันจึงได้ลุกขึ้นมาประท้วงและปฏิเสธอำนาจของโป๊ป  ผลที่ตามมาก็คือคริสตจักรได้แยกออกเป็นสองฝ่ายใหญ่ คือ ฝ่ายคาธอลิกที่มีโป๊ปเป็นประมุข และฝ่ายโปรเตสแตนท์หรือฝ่ายผู้ประท้วงสถาบันสันตปาปา
เมื่อหลุดจากการครอบงำทางความคิดความเชื่อของคริสตจักร  โลกของฝ่ายโปรเตสแตนท์ก็เจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์อย่างรวดเร็วจนปัจจุบันคนรุ่นใหม่ในตะวันตกมีความเชื่อมั่นในการค้นคว้าทดลองของนักวิทยาศาสตร์และความเห็นของตัวเองเหมือนกับความเชื่อมั่นที่มนุษย์มีต่อศาสนาในอดีต และไม่เพียงแต่ปฏิเสธคำสอนของศาสนาเท่านั้น  นักวิทยาศาสตร์วัตถุนิยมรุ่นใหม่เหล่านี้ยังสถาปนาตัวเองเป็นโป๊ปแห่งอาณาจักรวิทยาศาสตร์และทำตัวเหมือนกับบาทหลวงยุคกลางที่ประณามคนที่ท้าทายสมมุติฐานหรือความเชื่อบางอย่างของนักวิทยาศาสตร์ด้วย นี่คือจุดเริ่มต้นของแนวความคิดที่ปฏิเสธคำสอนของศาสนาและแยกอาณาจักรออกจากศาสนจักร (Secularism) อย่างสิ้นเชิง สำหรับคนเหล่านี้ พระเจ้าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับพวกเขาในการดำเนินชีวิตส่วนตัว ในครอบครัวและในสังคม ความคิดเช่นนี้เองที่เป็นพื้นฐานของลัทธิต่างๆไม่ว่าจะเป็นลัทธิทุนนิยม ลัทธิสังคมนิยม ลัทธิคอมมิวนิสม์และลัทธิอื่นๆที่ขัดแย้งกันจนต้องสังเวยด้วยชีวิตมนุษย์จำนวนมากมาย ดังนั้น เราจึงได้เห็นผู้นำชาติตะวันตกสั่งทำลายชีวิตมนุษย์ผู้บริสุทธิ์นับแสนๆคนโดยอาศัยข้ออ้างต่างๆในการสังหารหมู่มนุษย์ แต่กลับคัดค้านการลงโทษประหารชีวิตอาชญากรซึ่งพระเจ้าผู้เป็นเจ้าของชีวิตอนุมัติ  เราได้เห็นสังคมวัตถุนิยมที่ไร้ศาสนาทำลายศักดิ์ศรีผู้หญิงด้วยการส่งเสริมเสรีภาพทางเพศและวัฒนธรรมนุ่งน้อยห่มน้อย แต่กลับกีดกันเสรีภาพของผู้หญิงมุสลิมที่จะแต่งกายปกปิดมิดชิด นอกจากนี้แล้ว เรายังได้เห็นชาติตะวันตกบางชาติทำลายศักดิ์ศรีมนุษย์ด้วยการยอมรับการสมสู่ในหมู่เพศเดียวกันว่าเป็นที่ถูกกฎหมายทั้งๆที่สัตว์ก็ยังไม่เคยมีพฤติกรรมเช่นนี้
ถึงแม้ความเจริญก้าวทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะทำให้มนุษย์ได้รับความสะดวกสบายต่างๆในการดำเนินชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายก็ตาม แต่วิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความจำเป็นที่สำคัญบางอย่างให้แก่ชีวิตของมนุษย์ได้  ชีวิตที่หมายถึงนี้ไม่ใช่เฉพาะชีวิตทางด้านร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชีวิตทางด้านจิตวิญญาณที่เป็นส่วนสำคัญและเป็นชีวิตที่แท้จริงของมนุษย์ด้วย  ดังนั้น โลกปัจจุบันจึงเป็นโลกที่รุ่งเรืองทางวัตถุ แต่กลับขาดความจำเริญดีงามทางด้านจิตวิญญาณและเสื่อมทรามทางศีลธรรม
ความจริงแล้ว คำสอนของศาสนาที่ศาสดาต่างๆนำมานั้นคือกฎระเบียบของสังคมมนุษย์ที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างมีความสัมพันธ์สอดคล้องกับกฎทางกายภาพและชีวภาพทั้งภายในตัวมนุษย์และรอบตัวมนุษย์อย่างไม่สามารถแยกขาดจากกันได้   การล่วงละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎทางศีลจึงมีผลกระทบที่เสียหายต่อกฎชีวภาพและกายภาพทั้งในตัวและรอบตัวของมนุษย์อย่างหลีกหนีไม่พ้นและผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นก็คือตัวมนุษย์เอง  ตัวอย่างเช่น กฎทางศีลธรรมของศาสนาห้ามดื่มสิ่งมึนเมา เมื่อมนุษย์ฝ่าฝืน ผลกระทบต่อชีวภาพในตัวของมนุษย์ก็คือสุขภาพของมนุษย์ได้รับอันตราย และยังมีผลเสียหายทางสังคมติดตามมาอีกมากมาย นอกจากนี้แล้ว เมื่อความต้องการบริโภคสิ่งมึนเมา ก็ย่อมมีการผลิตตอบสนอง  ยิ่งมีความต้องการมาก ก็ยิ่งผลิตมาก ของเสียเช่นส่าเหล้าที่ถูกเททิ้งในน้ำและควันจากอุตสาหกรรมกลั่นเหล้าก็เป็นตัวสร้างภาวะมลพิษขึ้น
อาจกล่าวได้ว่ากฎทางศีลธรรมของศาสนาคือรากฐานที่รองรับอายธรรมของมนุษย์อยู่  ถ้าหากกฎทางศีลธรรมถูกทำลาย อารยธรรมของมนุษย์ก็ไม่มีอะไรรองรับและจะต้องพังทลายลงมาในที่สุด  การล่มสลายของอาณาจักรโรมัน  การล่มสลายของอาณาจักรไอยคุปต์หรืออียิปต์ยุคฟาโรห์ในอดีตเป็นตัวอย่างของอารยธรรมในอดีตที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด  แต่เพราะการท้าทายศาสดาของพระเจ้าและการฝ่าฝืนกฎทางศีลธรรมซึ่งเป็นคำสอนของพระองค์  อารยธรรมอันยิ่งใหญ่ทั้งสองจึงต้องพังทลายลงจนเห็นเป็นซากอยู่ในปัจจุบัน
Share:

บทความที่ได้รับความนิยม

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน

บทความทั้งหมด

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

คลังบทความของบล็อก

Recent Posts

ผู้ติดตาม