กุศลทาน : รากฐานของเศรษฐศาสน์

กุศลทาน : รากฐานของเศรษฐศาสน์

ก่อนที่จะอ่านข้อเขียนถัดไปจากนี้ ผมอยากจะขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านเสียก่อนว่าคำว่า “เศรษฐศาสน์” ในหัวข้อบทความนี้ผมเขียนไม่ผิดนะครับ แต่ผมจงใจเขียนเช่นนั้นเองเพื่อให้มันแตกต่างไปจากคำว่า “เศรษฐศาสตร์” ที่อ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่มีความหมายที่แตกต่างกันโดยพื้นฐาน นั่นคือ “เศรษฐศาสน์” เป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานมาจากคำสอนของศาสนา แต่ “เศรษฐศาสตร์” เป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่มาจากความคิดหรือทฤษฎีของมนุษย์
คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะศาสนิกใดมักจะคิดว่าศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อโดยสงฆ์หรือนักบวชหรือเป็นเรื่องของการสวดมนต์ภาวนาภายในสี่มุมแคบๆของศาสนสถานเท่านั้น  ความคิดเช่นนี้เองที่นำมนุษย์ไปสู่ความหายนะในทุกๆด้านของชีวิตไม่ว่าจะเป็นด้านส่วนตัว ครอบครัวหรือสังคม
ความจริงแล้ว ศาสนาคือแนวทางในการดำเนินชีวิตของมนุษย์และกฎระเบียบของสังคม การละเมิดหรือฝ่าฝืนคำสอนของศาสนาก็คือการฝ่าฝืนกฎระเบียบของสังคมซึ่งมีแต่จะนำความวุ่นวายหายนะมาสู่สังคมนั้นเอง และเนื่องจากสังคมประกอบไปด้วยมนุษย์ที่มีจิตใจโน้มไปในทางชั่วรวมอยู่ด้วย  ศาสนาจึงได้กำหนดพิธีกรรมทางศาสนาให้ศาสนิกของตนปฏิบัติเพื่อเป็นการขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลคนในสังคมและเพื่อควบคุมจิตใจมนุษย์มิให้ทำชั่วในทุกเวลาและทุกสถานที่นั่นเอง  ดังนั้น ในทุกศาสนาจึงมีทั้ง “ข้อห้าม” และ “ข้อพึงปฏิบัติ” ในการดำเนินชีวิตควบคู่กันไป  พิธีกรรมทางศาสนาจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของศาสนาเท่านั้น มิใช่ทั้งหมดของศาสนา
ถึงแม้โดยพื้นฐานแล้ว “ข้อห้าม” และ “ข้อพึงปฏิบัติ” ของทุกศาสนาจะคล้ายๆกัน แต่ในความคล้ายกันโดยหลักการนั้นก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียดของการปฏิบัติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสภาพของสังคมในสมัยของศาสดาแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน
จะขอยกตัวอย่างเรื่อง “ทาน” ซึ่งศาสดาของทุกศาสนาล้วนส่งเสริมและสนับสนุนให้สาวกและศาสนิกของท่านปฏิบัติจนเป็นสถาบันที่ดำรงอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ วัตถุประสงค์หลักในการทำทานของทุกศาสนาก็เพื่อที่จะชำระล้างจิตใจให้สะอาดหมดจดจากมลทินแห่งความตระหนี่ถี่เหนียวซึ่งถือเป็นโรคร้ายภายในจิตใจที่จะมีผลต่อสังคมภายนอกและอีกประการหนึ่งก็คือเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลคนในสังคมด้วยกัน  เรากล้าที่จะกล่าวได้อย่างมั่นใจว่าไม่มีศาสนาใดที่ไม่สอนให้คนทำทาน  แต่ในความเหมือนนั้นก็มีความแตกต่างกันไปตั้งแต่ระดับความคิดความเชื่อและการปฏิบัติ
ผมอยากจะขอยกตัวอย่างแนวความคิดและการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการทำทานในอิสลามมาให้ผู้อ่านได้รับรู้เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจที่ดีต่อกันซึ่งผมเชื่อว่ามันจะยังประโยชน์และสร้างความสงบสุขให้แก่สังคม
อิสลามสอนให้เชื่อว่าทรัพยากรทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในชั้นฟ้าและแผ่นดินหรือที่อยู่ระหว่างนั้นเป็นของพระเจ้า และเพื่อให้มนุษย์ได้นำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการสร้างความเจริญบนโลก พระองค์จึงได้ประทานความรู้ความสามารถในการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นแก่มนุษย์ด้วย นอกจากนี้แล้ว พระผู้เป็นเจ้ายังได้บอกมนุษย์ให้รู้ด้วยว่ามนุษย์ควรจะนำเอาทรัพยากรเหล่านั้นไปใช้อย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและการนำความรู้ความสามารถไปใช้ทางไหนจะเกิดผลเสียหายต่อมนุษย์ด้วยกัน  เมื่อมนุษย์แสวงหาความมั่งคั่งมาได้แล้ว มนุษย์ก็มีหน้าที่จะต้องเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวเสียก่อน ตรงนี้อิสลามถือเป็นหน้าที่ทางศาสนาสำหรับมุสลิมทุกคน แน่นอนครับ ถ้าไม่ช่วยตัวเองหรือช่วยตัวเองไม่ได้แล้วจะไปช่วยใครได้ และอีกประการหนึ่งก็คือ ครอบครัวเป็นรากฐานของสังคม ถ้าครอบครัวอ่อนแอ สังคมก็จะพลอยอ่อนแอและพังทลายในไม่ช้า ดังนั้น การดูแลครอบครัวของตัวเองจึงเป็นการช่วยเหลือสังคมไปในตัว
เมื่อเลี้ยงดูครอบครัวแล้ว หากมีทรัพย์สินเงินทองเหลือหรือไม่จำเป็นต้องรอให้เหลือ อิสลามก็สอนให้ทำทานตามความสมัครใจ ใครมีมากจะทำมาก มีน้อยทำน้อย หรือใครมีน้อยจะทำมากหรือมีมากจะทำน้อยก็ไม่ว่ากัน ไม่เป็นข้อบังคับ เพียงแต่ขอให้ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนจากมนุษย์ด้วยกัน แต่ให้หวังการตอบแทนจากพระเจ้าในชีวิตโลกหน้าเป็นสำคัญเพราะพระเจ้าจะไม่ทำให้มนุษย์ผิดหวังและจะตอบแทนการทำดีของมนุษย์อย่างยุติธรรม
แต่การทำทานโดยความสมัครใจในอิสลามมีสิ่งที่แตกต่างไปจากการทำทานในศาสนาอื่นตรงที่อิสลามได้กำหนดให้มุสลิมทำทานแก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับ 8 ประเภทไว้อย่างชัดเจนในคัมภีร์กุรอานซึ่งเป็นคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือ  1) คนยากจน 2) คนขัดสน 3) คนที่มีจิตใจโน้มมาสู่การเชื่อฟังพระเจ้า 4) คนที่ทำหน้าที่บริหารการจัดเก็บหรือแจกจ่ายทาน 5) คนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว 6) ใช้ในการไถ่ทาสและเชลย 7) ใช้ในหนทางของพระเจ้า และ 8) คนพลัดถิ่นหลงทาง
ยังไม่จบเพียงเท่านั้น ถึงแม้จะทำทานมาโดยตลอด แต่เมื่อครบรอบปี หากยังมีทรัพย์สินเงินทองเหลืออยู่มีมูลค่าเท่ากับราคาทองคำหนักประมาณ 5 บาทตามที่ศาสนากำหนด มุสลิมมี “หน้าที่”จะต้องจ่ายจากจำนวนที่เหลือนี้อีก 2.5% เป็น “ซะกาต” แก่บุคคล 8 ประเภทดังกล่าวข้างต้น
สิ่งที่จะต้องนำมาจ่ายซะกาตได้แก่ เงินสดในมือและในบัญชีธนาคาร ทองคำ เงินโลหะ และหุ้น เป็นต้น ส่วนผู้ที่ครอบครองที่ดินการเกษตรจะต้องจ่ายเป็นพืชผลที่เก็บเกี่ยวจากที่ดินซึ่งมีอัตราต่างกันตามการลงทุนทางชลประทาน แต่จะไม่ขอกล่าวในที่นี้
การจ่ายซะกาตตรงนี้ถือเป็น “หน้าที่” เหมือนกับที่พลเมืองมีหน้าที่จะต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐเพื่อที่รัฐจะได้มีรายได้ไปจัดเตรียมความคุ้มครองและจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้แก่พลเมืองของตนเอง หากจะพูดไปแล้ว “ซะกาต”ก็คือภาษีที่พลเมืองมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐอิสลาม แต่ “ซะกาต” กับ “ภาษี”ในรัฐสมัยใหม่นั้นแตกต่างกันตรงที่ อิสลามได้กำหนดให้การจ่ายซะกาตเป็นหน้าที่ทางศาสนาซึ่งจะมีผลผูกพันต่อชะตากรรมของชีวิตในโลกหน้าด้วย นั่นหมายความว่าถ้าหากมุสลิมคนใดหลบเลี่ยงการจ่ายซะกาตในโลกนี้ ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายลงโทษ แต่เขาจะต้องถูกลงโทษในโลกหน้าอย่างหนีไม่พ้น เพราะการหลีกเลี่ยงการจ่ายซะกาตถือเป็นการยักยอกเงินที่พระเจ้าจัดสรรไว้สำหรับคน 8 ประเภทดังกล่าวข้างต้น
คำว่า “ซะกาต” เป็นคำภาษาอาหรับที่หมายถึง “ การซักฟอกให้สะอาดบริสุทธิ์” และ “การเจริญเติบโต” นั่นหมายความว่าเมื่อผู้ใดจ่ายซะกาต ผู้นั้นก็ได้ขัดเกลาจิตใจของตนเองให้สะอาดหมดจดจากมลทินแห่งความตระหนี่ถี่เหนียวและได้ซักฟอกเงินที่หามาได้โดยสุจริตให้สะอาดอีกทีหนึ่ง
ส่วนความหมายที่ว่า “การเจริญเติบโต” นั้นก็สามารถอธิบายเป็นรูปธรรมได้ว่าเมื่อเราจ่ายทานหรือซะกาตออกไปสู่ผู้มีสิทธิ์ประเภทหนึ่งประเภทใดดังที่กล่าวมา นั่นก็หมายความว่าเงินทองได้ออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เมื่อทานหรือซะกาตตกไปถึงมือคนยากจนหรือคนขัดสน คนเหล่านี้ก็จะมีอำนาจซื้อซึ่งจะไปกระตุ้นการผลิตให้ดำเนินต่อไปได้ และเมื่อการผลิตขยายตัวก็จะก่อให้เกิดมีการจ้างงาน มีการกระจายรายได้และมีการเจริญเติบโตติดตามมา
นักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์รู้ดีว่าเงินหนึ่งบาทหากหมุนอยู่ในคนสิบคน มันก็จะกลายเป็นสิบบาท ยิ่งหมุนเร็วและกว้างออกไปเท่าใด มันก็จะสร้างความเจริญเติบโตให้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น ความจริงตรงนี้สอดคล้องกับคำสอนของอิสลามที่กล่าวว่าการใช้จ่ายทรัพย์สินในแนวทางของพระเจ้านั้นเปรียบเสมือนกับเมล็ดข้าวที่จะงอกออกมาเป็นลำต้นและแตกออกเป็นเจ็ดรวง แต่ละรวงจะมีจำนวนหนึ่งร้อยเมล็ด ท่านผู้อ่านคิดดูเอาเองก็แล้วกันครับว่ามันเป็นกี่เท่า
อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งก็มิได้หมายถึงความมั่นคงเสมอไปหากมนุษย์ใช้ความมั่งคั่งไปในทางที่ผิด เศรษฐกิจของประเทศไทยที่บอบช้ำอยู่ในขณะนี้เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดี อิสลามให้หลักประกันว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมจะยั่งยืนนานตลอดไปหากคนในสังคมใช้จ่ายทรัพย์สินไปในทางที่ดีงามและไม่ละเมิดขอบเขตศีลธรรม
มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงพอจะจำแนกออกได้แล้วนะครับว่า “เศรษฐศาสน์” นั้นวางรากฐานอยู่บนศีลธรรม แต่ “เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่” โดยเฉพาะที่มาจากตะวันตกนั้นวางรากฐานอยู่บนผลประโยชน์ทางวัตถุหรือตัวเงินเป็นสำคัญ  นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมรัฐบาลสมัยใหม่จึงพยายามทำให้การพนัน โสเภณี และสิ่งเลวทรามอื่นๆในทัศนะของศาสนาเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมายเพียงเพื่อสิ่งเดียว นั่นคือ “ เงิน” โดยไม่คำนึงถึงหายนะต่างๆทางสังคมที่จะติดตามมา

โดย
Share:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน

บทความทั้งหมด

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

คลังบทความของบล็อก

Recent Posts

ผู้ติดตาม