วันศุกร์ : วันพิเศษสำหรับมุสลิม
ท่านนบีมุฮัมมัด (ขอความสันติจงมีแด่ท่าน)ได้กล่าวว่า : “วันที่ดีที่สุดที่ดวงอาทิตย์ขึ้นคือวันศุกร์ วันนั้นเป็นวันที่อาดัมถูกสร้าง วันที่ท่านได้ถูกนำเข้าสวรรค์ วันที่ท่านได้ถูกขับออกจากที่นั่น และยามอวสานจะเกิดขึ้นในวันศุกร์” (รายงานโดยอบูฮุร็อยเราะฮฺ)
ท่านนบีฯจะให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่วันศุกร์เป็นอย่างมาก ท่านมีคำแนะนำต่างๆให้เราปฏิบัติในวันนั้นและท่านเองก็ได้ปฏิบัติให้เป็นแบบอย่าง เช่น ในวันศุกร์ ท่านแนะนำให้อ่านกุรอานซูเราะฮฺ อัซ-ซัจญ์ด๊ะฮฺและซูเราะฮฺ อัล-อินซานในการนมาซก่อนรุ่งอรุณเพราะมันครอบคลุมกิจการทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับวันศุกร์ ท่านสั่งให้อาบน้ำ ใช้น้ำหอม แปรงฟัน ใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดและไปมัสญิดเพื่อนมาซวันศุกร์ให้เร็ว เมื่อไปถึงมัสญิดแล้วให้นมาซเคารพมัสญิด หากมีเวลาหลังนมาซก็ให้อ่านกุรอานและรำลึกถึงอัลลอฮให้มากๆ และนิ่งฟังคุฏบ๊ะฮฺ (ปาฐกถาธรรม) ด้วยความตั้งใจ เมื่อท่านนบีฯยืนอยู่บนแท่นมิมบัรฮ(แท่นยืนเทศนา)เพื่อกล่าวคำเทศนาประจำวันศุกร์ ดวงตาของท่านจะแดงเป็นประกายและท่านจะพูดเสียงดัง อย่างไรก็ตาม ท่านจะใช้เวลากล่าวคำเทศนาสั้นๆ แต่จะใช้เวลานมาซยาว
การไปนมาซวันศุกร์เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงามที่อัลลอฮทรงประทานแก่มุสลิมและเป็นวันที่บรรดาผู้ศรัทธาควรจะมีความรู้สึกรื่นเริงยินดีเนื่องจากมีโอกาสที่ได้ไปร่วมนมาซกับผู้ศรัทธาคนอื่นๆ โดยปกติแล้ว วันศุกร์จะเป็นวันหยุดในประเทศมุสลิม วันศุกร์ได้ถูกกล่าวไว้ในกุรอานและคำว่าวันศุกร์(ญุมุอ๊ะฮ)ได้ถูกนำมาตั้งเป็นชื่อซูเราะฮฺหนึ่งของคัมภีร์กุรอานด้วย นั่นหมายความว่าอัลลอฮฺได้ทรงให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่วันศุกร์ ดังนั้น อัลลอฮฺจึงมีคำสั่งสำคัญให้เราปฏิบัติตามในวันศุกร์ดังนี้ :-
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา เมื่อมีการประกาศให้ไปนมาซในวันศุกร์ ดังนั้น สูเจ้าจงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงอัลลอฮและจงทิ้งการค้าขายทั้งหลายเสีย นั่นเป็นการดีกว่าสำหรับสูเจ้า ถ้าหากสูเจ้ารู้ และเมื่อการนมาซเสร็จสิ้นแล้ว สูเจ้าก็จงแยกย้ายกันไปบนหน้าแผ่นดินเพื่อแสวงความโปรดปรานของอัลลอฮ และจงรำลึกถึงอัลลอฮอย่างสม่ำเสมอเพื่อที่สูเจ้าจะประสบผลสำเร็จ” (กุรอาน 62:9-10)
การนมาซวันศุกร์(เศาะลาตุลญุมุอ๊ะฮฺ)เป็นหน้าที่สำคัญสำหรับมุสลิมชายทุกคนที่เป็นผู้ใหญ่ที่สามารถไปร่วมนมาซได้และจะต้องไม่ขาดนมาซวันศุกร์เว้นเสียแต่ว่าจะมีเหตุผลจำเป็นจริงๆ การนมาซวันศุกร์เป็นการทดแทนการนมาซประจำตอนบ่าย(ซุฮฺรี่) ที่สำคัญก็คือ การนมาซวันศุกร์อย่างถูกต้องสมบูรณ์เป็นการชดใช้บาปบางอย่าง มันจะขจัดบาปเล็กๆที่เกิดขึ้นระหว่างการนมาซวันศุกร์ที่แล้วจนถึงนมาซวันศุกร์ครั้งหลังสุด การนมาซวันศุกร์มีความสำคัญแค่ไหนนั้นจะเห็นได้จากการที่ท่านนบีฯเคยถึงกับขู่ว่าจะเผาบ้านของคนที่ไม่ไปนมาซวันศุกร์ นอกจากนี้แล้ว อัลลอฮฺจะทรงปิดหัวใจของบรรดาผู้มีเจตนาหลีกเลี่ยงการนมาซวันศุกร์และหัวใจของคนที่พลาดการนมาซวันศุกร์สามครั้งต่อเนื่องกันโดยไม่มีเหตุผลสมควร
ผู้หญิง เด็ก คนเดินทางและคนป่วยไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมนมาซวันศุกร์ การเดินทางในวันศุกร์เป็นที่อนุญาต แต่ผู้เดินทางควรจะเริ่มต้นการเดินทางก่อนเวลาประกาศ(อะซาน)ให้ไปนมาซวันศุกร์ เว้นเสียแต่ว่ามีความจำเป็นจริงๆ ผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณที่ตั้งของมัสญิดจะต้องไปนมาซวันศุกร์ถ้าหากว่ามีความสามารถ แต่ถ้าหากอากาศและสภาพแวดล้อมไม่ดี การนมาซวันศุกร์อาจถูกยกเลิกได้
การไปร่วมนมาซวันศุกร์แต่เนิ่นๆนั้นมีผลบุญอันยิ่งใหญ่เป็นสิ่งตอบแทน กล่าวคือ การออกไปนมาซวันศุกร์แต่เนิ่นๆทำให้คนผู้นั้นได้รับผลบุญตอบแทนในการรอคอยการนมาซ การนั่งรำลึกถึงอัลลอฮ การนมาซสุนัตในระหว่างเวลานั้น อบูอุมามะฮฺได้เล่าว่าท่านนบีได้กล่าวว่า : “ มลาอิก๊ะฮฺจะมานั่งที่หน้าประตูมัสญิดโดยมีแผ่นบันทึกไว้คอยบันทึกคนที่มายังมัสญิด เมื่ออิมามปรากฏตัว แผ่นบันทึกนั้นก็จะถูกม้วน” เมื่ออบูอุมามะฮฺถูกถามว่า “คนที่มาหลังจากอิมามจะยังคงได้นมาซวันศุกร์หรือไม่ ?” เขาตอบว่า “ได้แน่นอน แต่เขาไม่ได้อยู่ในหมู่ผู้ที่ถูกบันทึกไว้เหมือนคนที่มาเร็ว” (อะหมัดและอัฏ-เฏาะบะรอนี)
การปฏิบัติตัวตามแบบอย่างคำสอนของท่านนบีในวันศุกร์
- อาบน้ำทั่วร่างกายก่อนที่จะออกไปยังมัสญิดเหมือนกับการอาบน้ำชำระฮะดัษใหญ่
- แปรงฟันและใช้น้ำหอมอ่อนๆประทินร่างกาย ขลิบหนวด ถอนขนรักแร้ โกนขนใต้ร่มผ้าและตัดเล็บ
- ใส่เสื้อผ้าที่สะอาดและประณีตเรียบร้อย ท่านนบีได้กล่าวว่า “ถ้าหากเป็นไปได้ เขาก็ควรจะซื้อเสื้อผ้าไว้สองชุดนอกเหนือไปจากชุดทำงานทั้งนี้เพื่อไว้ใส่ในวันศุกร์” (รายงานโดยอบูดาวูด) คำพูดนี้สำหรับผู้ชาย ส่วนผู้หญิงนั้นสามารถไปนมาซวันศุกร์ได้ถ้าหากแต่งตัวปกปิดร่างกายมิดชิดและไม่ใช้นำหอมและการไปมัสญิดจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาใดๆติดตามมา
- รำลึกถึงอัลลอฮฺ(ซิกรุลลอฮฺ)ให้มากๆและวิงวอนขอพรทั้งก่อนและหลังการนมาซ
- ทำทานก่อนการนมาซ
ข้อแนะนำทั่วไป
ยังมีสิ่งดีๆอีกบางอย่างที่ควรทำสำหรับคนที่จะไปนมาซวันศุกร์ นั่นคือ หากเดินไปมัสญิดได้ก็ควรเดินเพราะทุกก้าวที่เดินไปมัสญิดนั้นมีผลบุญตอบแทน เมื่อเข้าไปในมัสญิดแล้วก็ไม่ควรเดินข้ามผู้คนไปยังจุดหนึ่งจุดใดเป็นการเฉพาะในมัสญิด ไม่ควรเข้าไปแทรกนั่งระหว่างคนสองคนที่นั่งอยู่ด้วยกัน ไม่ควรใช้วิธีการทำให้คนอื่นยืนขึ้นแล้วตัวเองเข้าไปนั่งแทนที่ ไม่ควรนั่งกอดเข่าในขณะรอการนมาซ ควรจะเข้าไปนั่งแถวหน้าใกล้อิมามหากเป็นไปได้ ขณะที่ฟังการกล่าวคำเทศนาจะต้องไม่พูดหรือทำสิ่งใด ควรจะไปมัสญิดในสภาพที่สงบและไม่เร่งรีบ ควรอ่านกุรอานซูเราะฮอัล-กะฮฺฟี่เพราะมีฮะดีษที่เชื่อถือได้กล่าวว่า : “ใครก็ตามที่อ่านซูเราะฮฺ อัล-ก๊ะฮฟี่ในวันศุกร์ มันจะเป็นแสงสว่างสำหรับเขาจากวันศุกร์นั้นถึงวันศุกร์ถัดไป” (บันทึกโดยอัล-บัยฮะกีและอัล-ฮากิม) จะอ่านในเวลาไหนก็ได้ และถ้าหากรู้สึกง่วง ก็ควรจะลุกขึ้นย้ายไปนั่งที่อื่น
ข้อห้ามพิเศษในวันศุกร์
- ห้ามการซื้อขายหลังจากที่ได้มีการประกาศ(อะซาน)ให้คนมานมาซเป็นที่ต้องห้ามจนกว่าการนมาซจะเสร็จสิ้นแล้ว
- ห้ามการนมาซเพิ่มเติมเมื่ออิมามกำลังเดินไปกล่าวคำเทศนา ถ้าหากใครมานมาซช้าในขณะที่อิมามกำลังกล่าวคุฏบ๊ะฮ ก็ให้นมาซเคารพมัสญิดสองร็อกอัตและนั่งลงหรือไม่ต้องนมาซก็ได้ แต่ที่ดีกว่าก็คือให้นมาซสองร็อกอัต ทั้งนี้เพราะมีฮะดีษของท่านนบีฯกล่าวว่า : “ถ้าหากผู้ใดในหมู่พวกท่านมายังมัสญิด เขาก็ควรนมาซสองร็อกอัตก่อนที่จะนั่งลง” (บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม) อย่างไรก็ตาม การนมาซเคารพมัสญิดไม่เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้กล่าวคุฏบ๊ะฮ และการนมาซสองร็อกอัตนี้ก็จำเป็นแต่เฉพาะการนมาซในมัสญิดเท่านั้น
- ห้ามการพูดในขณะที่อิมามกำลังกล่าวคำเทศนาหรือสนใจอยู่กับคำพูดหรือการกระทำใดๆที่เบนความสนใจไปจากการตั้งใจฟังอิมาม
- ห้ามการเดินข้ามคอของคนที่นั่งอยู่ อัต-ติรฺมีซีกล่าวว่าคนมีความรู้ไม่ชอบที่จะให้ใครเดินข้ามคอของผู้คน อับดุลลอฮ อิบนุ บุศร์กล่าวว่า “ชายคนหนึ่งได้เดินข้ามหัวคนในขณะที่ท่านนบีกำลังกล่าวคุฎบ๊ะฮวันศุกร์ ท่านจึงได้บอกให้คนผู้นั้นว่า ‘นั่งลง ท่านกำลังทำให้คนเดือดร้อนและท่านมาสาย’ ”
- ห้ามการจัดนมาซวันศุกร์ในสองมัสญิดในท้องถิ่นเดียวกันโดยไม่จำเป็น เมื่อการนมาซวันศุกร์ได้ถูกจัดให้มีขึ้นในท้องถิ่นใดเป็นที่ถูกต้องตามเงื่อนไขแล้ว การนมาซในท้องถิ่นอื่นก็ใช้ไม่ได้ยกเว้นในท้องถิ่นใหญ่ที่มัสญิดเพียงหนึ่งแห่งไม่เพียงพอสำหรับผู้คนในท้องถิ่นนั้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น