แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เศรษฐกิจอิสลาม แสดงบทความทั้งหมด
แสดงบทความที่มีป้ายกำกับ เศรษฐกิจอิสลาม แสดงบทความทั้งหมด

เรื่องไม่ลับ แต่คนไม่รู้

เรื่องไม่ลับ แต่คนไม่รู้
บรรจง บินกาซัน


ดอกเบี้ยคือความไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่ง หากดอกเบี้ยเฟื่องฟูในสังคมใด สังคมนั้นก็เต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรม และเมื่อความไม่เป็นธรรมอยู่ที่ไหน มันจะนำความหายนะมาสู่ที่นั่น

นี่คือเหตุผลที่ศาสดาคนสำคัญของโลกเช่นโมเสสและพระเยซูได้สั่งห้ามการให้กู้ยืมโดยคิดดอกเบี้ย หลักฐานคำสั่งห้ามของศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสองนี้สามารถหาพบได้ในคัมภีร์ไบเบิล
ปรัชญาเมธีชาวกรีกอย่างเพลโตและอริสโตเติลก็กล่าวประณามดอกเบี้ยไว้เช่นกัน

หลังสมัยพระเยซูประมาณ 600 ปี นบีมุฮัมมัดได้มายืนยันคำสั่งห้ามของศาสดาและปรัชญาเมธีคนก่อนๆเพราะคำสอนของศาสดาคือวจนะของพระเจ้าที่เป็นความจริงตราบนานจนถึงวันสิ้นโลก
นอกจากยืนยันความจริงแล้ว นบีมุฮัมมัดผู้เกิดในสังคมการค้าในแผ่นดินอาหรับยังได้ขยายความจริงเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ยออกไปอีกว่าดอกเบี้ยมีหลากหลายรูปแบบ ดอกเบี้ยมิได้อยู่ในรูปของสิ่งที่เพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมเท่านั้น แต่ยังอยู่ในรูปของส่วนลดหรือส่วนเพิ่มที่เกิดขึ้นจากการแลกเปลี่ยนสิ่งของมีค่าที่เหมือนกันอีกด้วย ท่านกล่าวว่า :-

“อย่าขายหรือแลกเปลี่ยนทองคำกับทองคำเว้นเสียแต่ว่ามันมีน้ำหนักเท่ากัน อย่าขายหรือแลกเปลี่ยนเงินกับเงินเว้นเสียแต่จะมีน้ำหนักเท่ากัน แต่ท่านสามารถขายทองเพื่อเงินหรือขายเงินเพื่อทองได้ตามที่ท่านต้องการ.....การขายทองเพื่อทองเป็นดอกเบี้ยยกเว้นถ้าเป็นการแลกเปลี่ยนกันทันทีจากมือสู่มือและมีจำนวนเท่ากัน”
ท่านพูดเช่นนั้นเพราะในสมัยของท่าน โลกใช้เหรียญกษาปณ์ทองคำซึ่งเรียกว่า “ดีนาร์”และเหรียญเงินที่เรียกว่า “ดิรฺฮัม” เป็นสื่อกลางในการซื้อขาย ในยุคต้นอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินทั้งสองนี้อยู่ที่ 7 ดีนาร์เท่ากับ 10 ดิรฺฮัม เงินสองสกุลนี้เป็นสกุลเงินหลักของดินแดนที่อยู่ภายใต้การปกครองของอิสลามมานานนับหลายร้อยปี

เมื่ออาณาจักรออตโตมานเติร์กล่มสลาย โลกเข้าสู่ยุคทันสมัย ชาติตะวันตกได้นำเอาเงินกระดาษที่เรียกว่า“ธนบัตร”เข้ามาแทนที่เหรียญกษาปณ์ทองคำเพื่อการพกพาได้สะดวก ส่วนเงินโลหะไม่ได้รับการถือว่าเป็นวัตถุคงค่าเท่าทองคำ แต่การจะพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้แทนทองคำต้องมีทองคำหนุนหลังเพื่อให้ธนบัตรที่พิมพ์ออกมามีค่าสามารถแลกเปลี่ยนโลหะทองคำได้พอดี

หลังสงครามโลกครั้งสอง ประเทศต่างๆต้องการค้าขายกับสหรัฐ เงินดอลล่าร์จึงได้กลายเป็นสกุลเงินสากลของโลก เมื่อการค้าต้องใช้เงิน ใน ค.ศ.1944 (พ.ศ.2487)  ประเทศต่างๆจึงได้ตกลงกันที่เมืองเบรตตันวูด รัฐนิวแฮมไชร์ของสหรัฐฯว่าราคาทองคำ 1 ออนซ์มีค่าเท่ากับ 35 ดอลล่าร์สหรัฐ ประเทศใดที่จะออกสกุลเงินของตัวเองก็ต้องเทียบมูลค่าดังกล่าวเป็นมาตรฐาน

เมื่อโลกทำการค้าโดยอาศัยสกุลเงินดอลล่าร์อ้างอิงได้ไม่นาน ค.ศ.1971 นายริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐได้ประกาศยกเลิกมาตรฐานทองคำที่ตกลงไว้กับต่างชาติตามลำพังเพียงฝ่ายเดียว นับแต่นั้นมา สหรัฐฯได้ออกธนบัตรดอลล่าร์ตามความต้องการของเศรษฐกิจโดยไม่มีทองคำหนุนหลัง ยิ่งพิมพ์ออกมามาก สกุลเงินดอลล่าร์ก็ยิ่งมีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับมูลค่าที่แท้จริงของทองคำ จนกระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.2010 ทองคำปิดราคาที่ 1,420 ดอลล่าร์ต่อหนึ่งออนซ์

ผลงานที่นายริชาร์ด นิกสันทำไว้ในเรื่องนี้ได้ทำให้กลุ่มนายทุนการเงินในวอลสตรีทที่กุมหัวใจเศรษฐกิจของสหรัฐไว้ตั้งแต่มีการก่อตั้งธนาคารกลางของสหรัฐใน ค.ศ.1912 แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วโลก
ด้วยเงินกระดาษดอลล่าร์ที่เสื่อมค่าลงทุกวันเหมือนเงินกงเต็กนี้เองที่รัฐบาลสหรัฐนำไปซื้อรัฐบาลและครอบครองทรัพยากรในประเทศต่างๆทั่วโลกเป็นการแผ่ขยายอำนาจของตน

เมื่อเงินดอลล่าร์สหรัฐเสื่อมค่าหมดความน่าเชื่อถือ ชาติยุโรปจึงหันมาร่วมกันออกสกุลเงินยูโรของตนเอง ดังนั้น มูลค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐยิ่งเสื่อมลงเพราะถ้าธนบัตรสกุลใดไม่เป็นที่ยอมรับ ธนบัตรนั้นก็ไม่ต่างอะไรไปจากเศษกระดาษที่หมดอำนาจบงการและการครอบครอง ทางออกก็คือการทำให้เงินดอลล่าร์เป็นที่ยอมรับต่อไปไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเวเนซูเอลาจึงมีการก่อจลาจลประท้วงประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซเมื่อเขาประกาศว่าจะขายน้ำมันของชาติด้วยเงินดอลล่าร์เพียงครึ่งหนึ่ง ส่วนอีกครั้งหนึ่งจะใช้เงินสกุลอื่น
เหตุผลที่สหรัฐโจมตีและยึดครองอิรักมิใช่เพราะซัดดัม ฮุสเซนเป็นเผด็จการแต่อย่างใด เพราะสหรัฐเองเคยสนับสนุนอิรักให้โจมตีอิหร่านหลังการปฏิวัติของอิมามโคมัยนี แต่เป็นเพราะซัดดัมประกาศว่าจะเลิกซื้อขายน้ำมันของอิรักด้วยเงินดอลล่าร์ต่างหาก การบุกโจมตีและยึดอิรักจึงเกิดขึ้นเพื่อปล้นบ่อน้ำมันของอิรักไปขายด้วยเงินดอลล่าร์สหรัฐต่อไปนั่นเอง

การโจมตีลิเบียและสังหารประธานาธิบดีมุอัมมาร์ กอซซาฟีอย่างเหี้ยมโหดและความพยายามจะโจมตีอิหร่านก็เป็นเพราะเหตุผลทางการเงินเช่นเดียวกัน เพราะอิหร่านได้ประกาศว่าจะขายน้ำมันด้วยเงินสกุลอื่นที่มิใช่ดอลล่าร์สหรัฐ

ขณะนี้ เศรษฐกิจของยุโรปกำลังร่อแร่ เงินยูโรที่เป็นคู่แข่งของเงินดอลล่าร์สหรัฐกำลังมีปัญหา จีนและรัสเซียจึงนำเงินรูเบิลและเงินหยวนออกสู่ระบบเศรษฐิจการเงินของโลกในขณะที่โลกมุสลิมก็มีการเสนอให้นำระบบเงินดีนาร์ทองคำกลับมาเป็นสกุลเงินของโลกอีกครั้งหนึ่ง

การต่อสู้กันของสกุลในสองค่ายมหาอำนาจนี้ไม่ต่างอะไรจากช้างสารชนกัน ชาวโลกที่เป็นหญ้าแพรกเท่านั้นที่แหลกราญ

หมายเหตุ : บทความนี้เขียนลงหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ "โลกวันนี้" ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน 2555
Share:

กุศลทาน : รากฐานของเศรษฐศาสน์

กุศลทาน : รากฐานของเศรษฐศาสน์

ก่อนที่จะอ่านข้อเขียนถัดไปจากนี้ ผมอยากจะขอทำความเข้าใจกับผู้อ่านเสียก่อนว่าคำว่า “เศรษฐศาสน์” ในหัวข้อบทความนี้ผมเขียนไม่ผิดนะครับ แต่ผมจงใจเขียนเช่นนั้นเองเพื่อให้มันแตกต่างไปจากคำว่า “เศรษฐศาสตร์” ที่อ่านออกเสียงเหมือนกัน แต่มีความหมายที่แตกต่างกันโดยพื้นฐาน นั่นคือ “เศรษฐศาสน์” เป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานมาจากคำสอนของศาสนา แต่ “เศรษฐศาสตร์” เป็นเรื่องของเศรษฐกิจที่มาจากความคิดหรือทฤษฎีของมนุษย์
คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะศาสนิกใดมักจะคิดว่าศาสนาเป็นเรื่องของการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อโดยสงฆ์หรือนักบวชหรือเป็นเรื่องของการสวดมนต์ภาวนาภายในสี่มุมแคบๆของศาสนสถานเท่านั้น  ความคิดเช่นนี้เองที่นำมนุษย์ไปสู่ความหายนะในทุกๆด้านของชีวิตไม่ว่าจะเป็นด้านส่วนตัว ครอบครัวหรือสังคม
ความจริงแล้ว ศาสนาคือแนวทางในการดำเนินชีวิตของมนุษย์และกฎระเบียบของสังคม การละเมิดหรือฝ่าฝืนคำสอนของศาสนาก็คือการฝ่าฝืนกฎระเบียบของสังคมซึ่งมีแต่จะนำความวุ่นวายหายนะมาสู่สังคมนั้นเอง และเนื่องจากสังคมประกอบไปด้วยมนุษย์ที่มีจิตใจโน้มไปในทางชั่วรวมอยู่ด้วย  ศาสนาจึงได้กำหนดพิธีกรรมทางศาสนาให้ศาสนิกของตนปฏิบัติเพื่อเป็นการขัดเกลาจิตใจของมนุษย์ให้สะอาดบริสุทธิ์ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลคนในสังคมและเพื่อควบคุมจิตใจมนุษย์มิให้ทำชั่วในทุกเวลาและทุกสถานที่นั่นเอง  ดังนั้น ในทุกศาสนาจึงมีทั้ง “ข้อห้าม” และ “ข้อพึงปฏิบัติ” ในการดำเนินชีวิตควบคู่กันไป  พิธีกรรมทางศาสนาจึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของศาสนาเท่านั้น มิใช่ทั้งหมดของศาสนา
ถึงแม้โดยพื้นฐานแล้ว “ข้อห้าม” และ “ข้อพึงปฏิบัติ” ของทุกศาสนาจะคล้ายๆกัน แต่ในความคล้ายกันโดยหลักการนั้นก็มีความแตกต่างกันในรายละเอียดของการปฏิบัติ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสภาพของสังคมในสมัยของศาสดาแต่ละคนอาจจะแตกต่างกัน
จะขอยกตัวอย่างเรื่อง “ทาน” ซึ่งศาสดาของทุกศาสนาล้วนส่งเสริมและสนับสนุนให้สาวกและศาสนิกของท่านปฏิบัติจนเป็นสถาบันที่ดำรงอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ วัตถุประสงค์หลักในการทำทานของทุกศาสนาก็เพื่อที่จะชำระล้างจิตใจให้สะอาดหมดจดจากมลทินแห่งความตระหนี่ถี่เหนียวซึ่งถือเป็นโรคร้ายภายในจิตใจที่จะมีผลต่อสังคมภายนอกและอีกประการหนึ่งก็คือเพื่อเป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลคนในสังคมด้วยกัน  เรากล้าที่จะกล่าวได้อย่างมั่นใจว่าไม่มีศาสนาใดที่ไม่สอนให้คนทำทาน  แต่ในความเหมือนนั้นก็มีความแตกต่างกันไปตั้งแต่ระดับความคิดความเชื่อและการปฏิบัติ
ผมอยากจะขอยกตัวอย่างแนวความคิดและการปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการทำทานในอิสลามมาให้ผู้อ่านได้รับรู้เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจที่ดีต่อกันซึ่งผมเชื่อว่ามันจะยังประโยชน์และสร้างความสงบสุขให้แก่สังคม
อิสลามสอนให้เชื่อว่าทรัพยากรทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในชั้นฟ้าและแผ่นดินหรือที่อยู่ระหว่างนั้นเป็นของพระเจ้า และเพื่อให้มนุษย์ได้นำทรัพยากรเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ในการสร้างความเจริญบนโลก พระองค์จึงได้ประทานความรู้ความสามารถในการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นแก่มนุษย์ด้วย นอกจากนี้แล้ว พระผู้เป็นเจ้ายังได้บอกมนุษย์ให้รู้ด้วยว่ามนุษย์ควรจะนำเอาทรัพยากรเหล่านั้นไปใช้อย่างไรจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและการนำความรู้ความสามารถไปใช้ทางไหนจะเกิดผลเสียหายต่อมนุษย์ด้วยกัน  เมื่อมนุษย์แสวงหาความมั่งคั่งมาได้แล้ว มนุษย์ก็มีหน้าที่จะต้องเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวเสียก่อน ตรงนี้อิสลามถือเป็นหน้าที่ทางศาสนาสำหรับมุสลิมทุกคน แน่นอนครับ ถ้าไม่ช่วยตัวเองหรือช่วยตัวเองไม่ได้แล้วจะไปช่วยใครได้ และอีกประการหนึ่งก็คือ ครอบครัวเป็นรากฐานของสังคม ถ้าครอบครัวอ่อนแอ สังคมก็จะพลอยอ่อนแอและพังทลายในไม่ช้า ดังนั้น การดูแลครอบครัวของตัวเองจึงเป็นการช่วยเหลือสังคมไปในตัว
เมื่อเลี้ยงดูครอบครัวแล้ว หากมีทรัพย์สินเงินทองเหลือหรือไม่จำเป็นต้องรอให้เหลือ อิสลามก็สอนให้ทำทานตามความสมัครใจ ใครมีมากจะทำมาก มีน้อยทำน้อย หรือใครมีน้อยจะทำมากหรือมีมากจะทำน้อยก็ไม่ว่ากัน ไม่เป็นข้อบังคับ เพียงแต่ขอให้ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทนจากมนุษย์ด้วยกัน แต่ให้หวังการตอบแทนจากพระเจ้าในชีวิตโลกหน้าเป็นสำคัญเพราะพระเจ้าจะไม่ทำให้มนุษย์ผิดหวังและจะตอบแทนการทำดีของมนุษย์อย่างยุติธรรม
แต่การทำทานโดยความสมัครใจในอิสลามมีสิ่งที่แตกต่างไปจากการทำทานในศาสนาอื่นตรงที่อิสลามได้กำหนดให้มุสลิมทำทานแก่ผู้มีสิทธิ์ได้รับ 8 ประเภทไว้อย่างชัดเจนในคัมภีร์กุรอานซึ่งเป็นคำบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า นั่นคือ  1) คนยากจน 2) คนขัดสน 3) คนที่มีจิตใจโน้มมาสู่การเชื่อฟังพระเจ้า 4) คนที่ทำหน้าที่บริหารการจัดเก็บหรือแจกจ่ายทาน 5) คนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว 6) ใช้ในการไถ่ทาสและเชลย 7) ใช้ในหนทางของพระเจ้า และ 8) คนพลัดถิ่นหลงทาง
ยังไม่จบเพียงเท่านั้น ถึงแม้จะทำทานมาโดยตลอด แต่เมื่อครบรอบปี หากยังมีทรัพย์สินเงินทองเหลืออยู่มีมูลค่าเท่ากับราคาทองคำหนักประมาณ 5 บาทตามที่ศาสนากำหนด มุสลิมมี “หน้าที่”จะต้องจ่ายจากจำนวนที่เหลือนี้อีก 2.5% เป็น “ซะกาต” แก่บุคคล 8 ประเภทดังกล่าวข้างต้น
สิ่งที่จะต้องนำมาจ่ายซะกาตได้แก่ เงินสดในมือและในบัญชีธนาคาร ทองคำ เงินโลหะ และหุ้น เป็นต้น ส่วนผู้ที่ครอบครองที่ดินการเกษตรจะต้องจ่ายเป็นพืชผลที่เก็บเกี่ยวจากที่ดินซึ่งมีอัตราต่างกันตามการลงทุนทางชลประทาน แต่จะไม่ขอกล่าวในที่นี้
การจ่ายซะกาตตรงนี้ถือเป็น “หน้าที่” เหมือนกับที่พลเมืองมีหน้าที่จะต้องจ่ายภาษีให้แก่รัฐเพื่อที่รัฐจะได้มีรายได้ไปจัดเตรียมความคุ้มครองและจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้แก่พลเมืองของตนเอง หากจะพูดไปแล้ว “ซะกาต”ก็คือภาษีที่พลเมืองมีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่รัฐอิสลาม แต่ “ซะกาต” กับ “ภาษี”ในรัฐสมัยใหม่นั้นแตกต่างกันตรงที่ อิสลามได้กำหนดให้การจ่ายซะกาตเป็นหน้าที่ทางศาสนาซึ่งจะมีผลผูกพันต่อชะตากรรมของชีวิตในโลกหน้าด้วย นั่นหมายความว่าถ้าหากมุสลิมคนใดหลบเลี่ยงการจ่ายซะกาตในโลกนี้ ถึงแม้จะไม่มีกฎหมายลงโทษ แต่เขาจะต้องถูกลงโทษในโลกหน้าอย่างหนีไม่พ้น เพราะการหลีกเลี่ยงการจ่ายซะกาตถือเป็นการยักยอกเงินที่พระเจ้าจัดสรรไว้สำหรับคน 8 ประเภทดังกล่าวข้างต้น
คำว่า “ซะกาต” เป็นคำภาษาอาหรับที่หมายถึง “ การซักฟอกให้สะอาดบริสุทธิ์” และ “การเจริญเติบโต” นั่นหมายความว่าเมื่อผู้ใดจ่ายซะกาต ผู้นั้นก็ได้ขัดเกลาจิตใจของตนเองให้สะอาดหมดจดจากมลทินแห่งความตระหนี่ถี่เหนียวและได้ซักฟอกเงินที่หามาได้โดยสุจริตให้สะอาดอีกทีหนึ่ง
ส่วนความหมายที่ว่า “การเจริญเติบโต” นั้นก็สามารถอธิบายเป็นรูปธรรมได้ว่าเมื่อเราจ่ายทานหรือซะกาตออกไปสู่ผู้มีสิทธิ์ประเภทหนึ่งประเภทใดดังที่กล่าวมา นั่นก็หมายความว่าเงินทองได้ออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เมื่อทานหรือซะกาตตกไปถึงมือคนยากจนหรือคนขัดสน คนเหล่านี้ก็จะมีอำนาจซื้อซึ่งจะไปกระตุ้นการผลิตให้ดำเนินต่อไปได้ และเมื่อการผลิตขยายตัวก็จะก่อให้เกิดมีการจ้างงาน มีการกระจายรายได้และมีการเจริญเติบโตติดตามมา
นักธุรกิจและนักเศรษฐศาสตร์รู้ดีว่าเงินหนึ่งบาทหากหมุนอยู่ในคนสิบคน มันก็จะกลายเป็นสิบบาท ยิ่งหมุนเร็วและกว้างออกไปเท่าใด มันก็จะสร้างความเจริญเติบโตให้มากยิ่งขึ้นเท่านั้น ความจริงตรงนี้สอดคล้องกับคำสอนของอิสลามที่กล่าวว่าการใช้จ่ายทรัพย์สินในแนวทางของพระเจ้านั้นเปรียบเสมือนกับเมล็ดข้าวที่จะงอกออกมาเป็นลำต้นและแตกออกเป็นเจ็ดรวง แต่ละรวงจะมีจำนวนหนึ่งร้อยเมล็ด ท่านผู้อ่านคิดดูเอาเองก็แล้วกันครับว่ามันเป็นกี่เท่า
อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งก็มิได้หมายถึงความมั่นคงเสมอไปหากมนุษย์ใช้ความมั่งคั่งไปในทางที่ผิด เศรษฐกิจของประเทศไทยที่บอบช้ำอยู่ในขณะนี้เป็นหลักฐานยืนยันได้อย่างดี อิสลามให้หลักประกันว่าความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมจะยั่งยืนนานตลอดไปหากคนในสังคมใช้จ่ายทรัพย์สินไปในทางที่ดีงามและไม่ละเมิดขอบเขตศีลธรรม
มาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงพอจะจำแนกออกได้แล้วนะครับว่า “เศรษฐศาสน์” นั้นวางรากฐานอยู่บนศีลธรรม แต่ “เศรษฐศาสตร์สมัยใหม่” โดยเฉพาะที่มาจากตะวันตกนั้นวางรากฐานอยู่บนผลประโยชน์ทางวัตถุหรือตัวเงินเป็นสำคัญ  นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมรัฐบาลสมัยใหม่จึงพยายามทำให้การพนัน โสเภณี และสิ่งเลวทรามอื่นๆในทัศนะของศาสนาเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมายเพียงเพื่อสิ่งเดียว นั่นคือ “ เงิน” โดยไม่คำนึงถึงหายนะต่างๆทางสังคมที่จะติดตามมา

โดย
Share:

ดอกเบี้ย กับ ซะกาต

ดอกเบี้ย กับ ซะกาต

ในระบบทุนนิยมที่วางพื้นฐานอยู่บนระบบดอกเบี้ยและมีกำไรเป็นแรงจูงใจในการทำธุรกิจ  หากนักธุรกิจคิดจะลงทุนทำอะไรสักอย่างหนึ่ง นักธุรกิจก็จะต้องนำปัจจัยทั้งสองมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจ   สำหรับคนที่มีเงินทุนเป็นของตนเอง  ถ้ากำไรที่ได้ต่ำกว่าหรือเท่ากับดอกเบี้ย เขาก็จะไม่ลงทุนถึงแม้ว่าโครงการนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมก็ตาม เพราะถ้าเขาเอาเงินฝากธนาคาร เขาก็จะได้ดอกเบี้ยตอบแทนโดยไม่ต้องเหนื่อยและไม่ต้องเสี่ยง  ยิ่งถ้าต้องไปกู้ด้วยแล้วไม่จำเป็นต้องพูดถึง  เมื่อเป็นเช่นนี้ การลงทุนก็ไม่เกิดขึ้นในสังคม เมื่อไม่มีการลงทุนก็ย่อมไม่มีการจ้างงาน ไม่มีการกระจายรายได้และไม่มีการเจริญเติบโตเป็นธรรมดา
ดังนั้น ถ้าหากว่าจะมีการลงทุน นักธุรกิจก็จะต้องบวกกำไรให้สูงกว่าอัตราดอกเบี้ย ราคาสินค้าก็จะสูงเพราะมีดอกเบี้ยเป็นต้นทุนอยู่ด้วย  คนที่รับภาระจ่ายดอกเบี้ยก็คือผู้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากคนจนที่ไม่มีเงินฝากในธนาคาร  แต่คนที่ได้เปรียบก็คือคนที่มีเงินล้านฝากเพื่อกินดอกเบี้ยอยู่ในธนาคาร
ในระบบดอกเบี้ย ถ้าหากใครมีเงินฝากอยู่ในธนาคาร 10 ล้านบาทในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 8 % ภายในหนึ่งปีคนผู้นั้นก็จะมีรายได้จากดอกเบี้ย 8 แสนบาทโดยไม่ต้องทำงานและไม่ต้องเสี่ยงใดๆ เงินจำนวนนี้มาจากนักธุรกิจและผู้บริโภคที่ต้องดิ้นรนหามาให้เขาผ่านทางระบบธนาคาร เมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง  คนเหล่านี้จะสูญเสียรายได้จากดอกเบี้ยและจะออกมาร้องเอะอะโวยวาย และเนื่องจากคนที่ร่ำรวยมั่งคั่งมักจะมีอิทธิพลทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องหาทางช่วยคนพวกนี้ด้วยวิธีการต่างๆเช่น การขายพันธบัตรที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่า เป็นต้น แต่ในที่สุดแล้ว ดอกเบี้ยที่นำมาจ่ายให้เจ้าของพันธบัตรก็คือภาษีจากประชาชนนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ ระบบดอกเบี้ยจึงเป็นระบบที่เอาเปรียบและกดขี่ขูดรีดคนยากคนจน
หลังจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรปในศตวรรษที่ 19  ระบบทุนนิยมได้ถ่างช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนให้กว้างมากขึ้น  ประชาชนในหลายประเทศได้เห็นความไม่เป็นธรรมดังกล่าว จึงได้ร่วมกันลุกขึ้นปฏิวัติหรือไม่ก็ยึดกิจการของเอกชนเข้าเป็นของรัฐและนำเอาระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์เข้ามาใช้แทนระบบทุนนิยมโดยหวังว่าระบบนี้จะเป็นยาขนานเอกที่ช่วยเยียวยารักษาความเจ็บปวดจากการถูกกดขี่ขูดรีดในระบบทุนนิยมได้  แต่ในศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา กาลเวลาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าลัทธิคอมมิวนิสต์เองนอกจากจะไม่ได้ช่วยให้สังคมได้รับความเป็นธรรมตามอุดมการณ์จริงๆแล้วยังทำให้ชาวโลกนับร้อยนับพันล้านคนในประเทศต่างๆต้องได้รับการกดขี่ขูดรีดและต้องล้มตายลงไปจากการช่วงชิงอำนาจการเมืองกันเองในหมู่ผู้นำและการต่อสู้กับระบบทุนนิยม จนในปัจจุบันนี้ อุดมการณ์คอมมิวนิสต์ได้ผ่อนคลายหลักการและท่าทีของตนเองลงไปมากหรือในบางประเทศก็เลิกใช้อุดมการณ์นี้ไปแล้ว  แต่สิ่งที่ยังคงเหลือทิ้งไว้จากการต่อสู้ของสองอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกันก็คือความไม่เป็นธรรมทางสังคมอีกนั่นเอง
 อิสลาม : ทางเลือกที่สันติและเป็นธรรม
เพื่อขจัดความขัดแย้งทางสังคมและเพื่อสร้างความเป็นธรรมขึ้นในระบบเศรษฐกิจ  อิสลามได้เสนอเสรีภาพในการประกอบอาชีพและการแสวงหากำไรให้แก่มนุษย์ในขณะที่ระบบคอมมิวนิสต์ไม่เปิดโอกาสให้  ขณะเดียวกัน อิสลามก็เสนอให้ทำลายระบบดอกเบี้ยซึ่งเป็นรากเหง้าของการกดขี่ขูดรีดในระบบทุนนิยมเสียเพื่อมิให้คนมั่งคั่งร่ำรวยได้เปรียบคนยากจนโดยไม่ต้องออกแรงทำงาน  นอกจากนี้แล้ว อิสลามยังกำหนดไว้อีกว่าหากในแต่ละปีใครมีทรัพย์สินเช่น เงิน ทองคำ หุ้นและสินค้ามูลค่าเท่ากับราคาทองคำหนัก 5.6 บาทขึ้นไปจะต้องจ่าย 2.5% ของทรัพย์สินดังกล่าวเป็นซะกาตแก่บุคคล 8 ประเภทที่ศาสนากำหนดไว้ เช่น คนยากจน คนขัดสน คนมีหนี้สิน เป็นต้น
ดังนั้น  หากมุสลิมคนใดมีเงินฝากธนาคารสมมุตว่า 10 ล้านบาทเพื่อเอาดอกเบี้ยไปกินไปใช้เป็นการส่วนตัว นั่นก็หมายความว่าเขายอมรับบาปที่หนักเท่ากับการผิดประเวณีกับแม่ของตัวเอง นอกจากจะรับดอกเบี้ยไม่ได้แล้ว เขายังมีหน้าที่ทางศาสนาที่จะต้องจ่ายซะกาตอีก 2.5 % ทุกปีด้วย
ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย ผู้คนจะจับจ่ายใช้สอยกันน้อยลง จึงไม่มีใครคิดที่จะลงทุนเพราะความเสี่ยงสูง ถึงแม้ดอกเบี้ยจะต่ำก็ตามที  ดังนั้น เศรษฐกิจที่ถดถอยอยู่แล้วก็ยิ่งถดถอยหนักยิ่งขึ้นและในระบบทุนนิยมนั้นไม่มีมาตรการใดๆที่จะผลักดันเงินของเศรษฐีที่นอนอยู่เฉยๆให้ออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ แต่ในอิสลาม ข้อกำหนดเรื่องการจ่ายซะกาตนี้จะผลักดันให้เงินออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพราะถ้าหากใครเก็บเงินไว้เฉยๆโดยไม่นำออกมาหารายได้ให้เพิ่มพูนขึ้น  ซะกาตก็จะกินทรัพย์สินของเขาไปปีละ 2.5%  ทุกปี  ดังนั้น ถ้าหากมีการลงทุนใดๆที่จะให้กำไร 2.5% ขึ้นไป เขาก็จะนำเงินออกมาลงทุนเพื่อให้มีรายได้เข้ามาชดเชยซะกาตที่เขาจะต้องจ่าย  ด้วยเหตุนี้ ในระบบอิสลาม ซะกาตจึงเป็นกลไกอันหนึ่งที่จะผลักดันเงินที่ออมอยู่นิ่งๆของคนที่มั่งมีออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา
ระบบเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันไม่มีมาตรการใดๆที่จะผลักดันความมั่งคั่งของคนมั่งมีให้ออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ ภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินก็เป็นฝันที่ค้างกันมานับยี่สิบปี ดังนั้น  สิ่งที่รัฐบาลทำได้ก็คือ การไปกู้เงินจากต่างประเทศหรือกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศเข้ามาอัดฉีดลงไปในระบบเศรษฐกิจ  แต่ผลที่ตามมาก็คือรัฐบาลต้องมีหนี้สินมากขึ้น และคนที่ต้องชำระหนี้สินก็คือประชาชนผู้จ่ายภาษีอีกนั่นเอง  ไม่ใช่เศรษฐี

บทความโดย
บรรจง บินกาซัน
Share:

บทความที่ได้รับความนิยม

ผู้ให้ข้อมูลร่วมกัน

บทความทั้งหมด

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

คลังบทความของบล็อก

Recent Posts

ผู้ติดตาม